svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"เจษฎ์"ย้ำข้อ 7 กฎหมายนิรโทษหมอด่านหน้าคือตัวปัญหา

11 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"อดีตที่ปรึกษา กรธ." มองกฎหมายนิรโทษกรรมให้บุคลากรทางการแพทย์เชื่อไร้เสียงค้าน ย้ำหากทำเพื่อคุ้มครองคนนั่งหัวโต๊ะบัญชาการเกิดแรงกระเพื่อมแน่นอน โดยเฉพาะข้อ 7 ชี้จะเข้าข่าย มาตรา 172 หรือไม่ ต้องมาดูเนื้อหาสาระ

11 สิงหาคม 2564 รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญู (กรธ.) เปิดเผยว่า พ.ร.ก.ที่กระทรวงสาธารณสุขยกร่างอยู่ อาจยังมาไม่ถึงทำเนียบรัฐบาล เพราะมีคนออกมาขุดคุ้ยเยอะพอสมควร ซึ่งพอไปดูรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 การออกพ.ร.ก.เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ ถึงจะออกเป็นพพ.ร.ก.ได้ โดย ครม. ถ้าเกิดว่าไม่จำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน ประเทศก็จะเสียหายย่อยยับ ก็น่าจะเป็น พ.ร.บ.

 

ส่วนกรณีดังกล่าวจะเข้า มาตรา 172 หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่ามีโอกาสทั้งเข้าและไม่เข้า ต้องดูประการสำคัญ คือ

 

1.เนื้อหาสาระของพ.ร.ก.ที่จะเสนอ เป็นเรื่องอะไร คุ้มครองใคร แบบไหน ถ้าสมมุติบอกว่ามีคนกรีฑาทัพกันไปศาลฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาบุคลากรทางการแพทย์กันจนล้นศาลแล้ว หรือมีคนไข้ร้องเรียนหน่วยงานราชการจนกระทั่งหูชาหมดแต่ว่าบุคลากรทางการแพทย์ทำอะไรไม่เหมาะสม หรือว่ามีคนไปชุมนุมประท้วงเอาหินไปขว้างปา จะไปทุบทำลายบรรดาบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้น อาจจำเป็นเร่งด่วน พื่อป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือว่าเพื่อแก้ปัญหาอะไรต่างๆ มันมีความจำเป็น หรือประชาชนแห่เฮโลไปแย่งวัคซีนจากหมอ ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่ฉุกเฉิน

 

2.ถ้าเกิดมวลเนื้อหาไม่ได้มุ่งไปคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานด่านหน้า หรือทำงานหน้างาน เป็นผู้ปฏิบัติงานจริง แต่ไปคุ้มครองคนที่นั่งโต๊ะทำงาน คนที่ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องจะนำเข้าวัคซีนนั้น ไม่นำเข้าวัคซีนนี้ จะเอาสิ่งนี้มาให้ประชาชน ไม่เอาสิ่งนั้นมา อะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้าเป็นการไปคุ้มครองบรรดาท่านๆ เหล่านั้น ถามว่าเป็นสิ่งจำเป็นตรงไหน ทำไมจึงต้องเร่งออกพ.ร.ก. จะเหมาะสม ควรคุ้มครองหรือไม่


 

นอกจากนี้ ในตัวสาระ คือ บุคลากรสาธารณสุข 1-6  เป็นบุคลากรทางการแพทย์หมด แต่มีข้อ 7 คือ บุคคล คณะบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งหรือมอบหมายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการจัดหาหรือบริหารวัคซีน ซึ่งมีอันนี้ซุกอยู่นั้น สำหรับตนไม่เกี่ยว บุคคลนี้ไม่ได้ เพราะมิใช่ว่าสมควรที่จะถูกลงโทษหรือสมควรจะถูกตราหน้าว่ากระทำผิด แต่คนทำงานหน้าด่านมีโอกาสผิดพลาด พลั้งเผลอได้ แล้วอาจมีความไม่สบายใจ

 

“เพราะว่าการมีภาวะฉุกละหุกต้องตัดสินใจ เช่น ช่วยคนนี้ไม่ได้ ช่วยคนนั้น ฉีดยาคนนั้น ให้น้ำเกลือคนนี้ เลือกเตียงให้คนโน้น แต่ไม่ได้เลือกเตียงให้คนนั้น มันอาจจะมี เขาอาจจะไม่สบายใจว่าอย่างนี้ จะไปกระทบใคร แล้วมันจะทำให้เขาถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ไหม อันนี้เป็นที่น่ากังวลได้ แต่ท่านนั่งโต๊ะทำงาน ท่านวินิจฉัยและวิเคราะห์เป็นอย่างดีแล้ว มันไม่มีใครไปทำอะไรท่านได้หรอก ท่านไม่ได้ไปทำความเสียหายกับเขาโดยตรง” อดีตที่ปรึกษา กรธ. ระบุ  

 

รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า สมมุติไปเทียบกับครั้งหนึ่ง นโยบายปราบยาเสพติดทำให้คนเสียชีวิต 2-3 พันคน ถ้าไม่ได้เอาปืนไปยิงโดยตรง ก็เอาผิดยาก เพราะว่ามันเป็นนโยบาย แต่ถ้าเกิดทำไม่ดีไม่งามไม่ถูกต้อง ในความเป็นนักการเมืองก็ควรจะออกไป เพราะประชาชนไม่อยากได้ หรือในความเป็นคณะกรรมการอะไรก็แล้ว ถ้ามีคนที่เหมาะสมทำได้ดีกว่า ก็ควรไป แค่นั้นก็จบ ไม่ใช่ว่าใครจะทำให้ติดคุก สุดท้ายกฎหมายเรื่องละเมิดมีอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้จงใจ ไม่ได้ประมาทเลินเล่อ ทำโดยข้อมูลที่มีอยู่และเป็นข้อมูลที่พิจารณาดีแล้ว ใครจะไปทำอะไรได้

 

เมื่อถามว่า มันมีกฎหมายคุ้มครองที่เวลาเราไปรักษา ถ้าเราไม่ไปเซ็นรับรองเรื่องการรักษาพยาบาลของหมอหรือญาติต้องมาเซ็นรับรองว่าเกิดอะไรขึ้น หมอไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้มีอยู่ใช่ไหม โดย รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ต่อให้เซ็นรับรองถ้ามันเกิดสิ่งที่เรียกว่า การปฎิบัติผิดวิชาชีพ หรือภาษาทางการ หรือ ทุรเวชปฏิบัติ คือ การที่บุคลากรทางการแพทย์ทำผิดวิชาชีพ ซึ่งในวิชาชีพไม่ได้ให้ทำแบบนั้นแต่ไปทำ แล้วความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ถ้าหากเกิดจากการที่ไม่ระวังในพฤติการณ์ที่ควรระมัดระวัง ก็ไม่มีกฎหมายไหนในโลกคุ้มครองได้ ซึ่งต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามวิชาชีพ

 

ส่วนกรณีที่มีคนออกมาต่อต้านกฎหมายฉบับนี้จำนวนมาก เพราะยังไม่มีการเสนอเข้า ครม. คิดว่ามันจะไปซ้ำรอยเหมือนคนที่ออกมาต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอยเมื่อปี 2557 หรือไม่ รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า มันยังมีความแตกต่างกันอยู่ นัยยะถ้าเกิดเทียบเคียงกันในคราวนั้น นิรโทษกรรมสุดซอยถ้าหากเอาแค่ผู้มาร่วมชุมนุมที่ไม่ได้เป็นแกนนำ ไม่ได้เป็นคนต้นคิด เป็นคนทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมือง คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าจะเทียบเคียงจากตอนนั้น ถ้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์จริงๆ ไม่ได้เอาผู้ที่นั่งโต๊ะทำงาน ส่วนตัวมองว่าไม่มีปัญหา  แต่ถ้าผลักไปเพื่อจะได้พ้นผิดในสิ่งที่ทำแล้วประชาชนรู้สึกคลางแคลงและไม่พอใจ อันนี้มีโอกาส เพราะคราวนี้มัน คือ ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน อนามัย และก็ความปลอดภัยสาธารณะของประชาชน

 

รศ.ดร.เจษฎ์ ยังกล่าวถึงการประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบัน พ.ร.ก.นี้จะไปถึงตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเนื้อหา ถ้าทำเนื้อหาไม่เป็นที่หวาดระแวงของประชาชน คุ้มครองผู้ทำงานจริง ไม่ใช่คุ้มครองถึงขนาดที่ว่าอะไรๆก็ไม่ผิดสักอย่างเลย ทำให้คนรู้สึก มันพอไปได้ แต่ถ้าไม่ใช่ ไปคุ้มครองคนที่ไม่ควรคุ้มครอง อันนี้เกิดปัญหาแน่นอน แต่ท้ายที่สุดปัญหามีอยู่แค่นิดเดียว คือ ไม่เชื่อถือ ไม่ไว้วางใจคนจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนบริหารราชการแผ่นดิน ออกอะไรมาก็เฮโล ดังนั้น ต้องตัดข้อ 7 ออก แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้า มาตรา 172 เรื่องด่วนฉุกเฉินจำเป็นได้หรือไม่ เพราะว่ามีกฎหมายอื่นรองรับ บุคลากรทางการแพทย์อยู่

logoline