10 สิงหาคม 2564 สถานีกลางบางซื่อ Grand Station หรือ “สถานีรถไฟหลัก” แห่งใหม่ของประเทศไทย ที่ได้รับการพัฒนาและยกระดับให้เป็น “ศูนย์กลางรถไฟไทย” ทุกระบบ ครอบคลุมทุกบริการ “ระบบราง” สามารถเชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทาง โดยเชื่อมต่อระบบรางกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “การเดินทางแบบไร้รอยต่อ น้ำ บก อากาศ” ทั้ง “รถไฟฟ้าทางไกล” ไม่ว่าจะเป็นสายเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก “รถไฟความเร็วสูง” “รถไฟชานเมือง” รวมถึง “รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน” ทั้งเชื่อมต่อกับระบบ “รถไฟฟ้ามหานคร” และโครงข่าย “ถนนสายหลัก” ซึ่งนอกเหนือจากความงดงามที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยรูปทรงโค้งแบบร่วมสมัย ยังเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และประหยัดเวลา เพื่อให้ประชาชนสามารถเชื่อมการเดินทางไปยังทุกจุดหมาย บนพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขวางกว่า 298,200 ตารางเมตร โดยสามารถรองรับผู้โดยสารมากถึง 624,000 คน/วัน เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำระดับสากล ประกอบไปด้วย
• ชั้นใต้ดิน พื้นที่รวม 72,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับจอดรถประมาณ 1,700 คัน พื้นที่จอดรถยนต์ สำหรับบุคคลทั่วไป 1,681 คัน และพื้นที่จอดรถยนต์ผู้พิการ 19 คัน
• ชั้นลอย พื้นที่รวม 12,000 ตารางเมตร ใช้เป็นพื้นที่ร้านค้าเพื่อจำหน่ายสินค้า ทั้งสินค้า OTOP และสินค้าที่น่าสนใจหลายรายการ รวมทั้งเป็นพื้นที่ของห้องควบคุมของสถานีกลางบางซื่อ
• ชั้นที่ 1 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋วโดยสาร ร้านค้า ศูนย์อาหาร พื้นที่พักคอยและจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือ MRT
• ชั้นที่ 2 พื้นที่รวม 86,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับชานชาลารองรับระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง จำนวน 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล จำนวน 8 ชานชาลา
• ชั้นที่ 3 พื้นที่รวม 67,000 ตารางเมตร เป็นชานชาลารองรับรถไฟความเร็วสูง จำนวน 10 ชานชาลา และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เดินทางไปยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 2 ชานชาลา
นอกจากนี้จุดเด่นและสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานีกลางบางซื่อที่ควรรู้ ได้แก่
1. เป็นศูนย์กลางการคมนาคมแห่งใหม่เทียบเท่าสถานีรถไฟชั้นนำของโลก และเป็นแกนกลางการเดินทางสู่มหานคร
2. เป็นสถานี “อารยสถาปัตย์” ตามหลัก Universal Design โครงสร้างนาฬิกาแบบหน้าปัดมีเข็มนาฬิกา ซึ่งหน้าปัดมีเพียงตัวเลขบอกเวลาหมายเลข ๙ เท่านั้น ได้ถูกยกเพื่อติดตั้งที่หน้าโดมของสถานีกลางบางซื่อแล้ว หลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะได้จัดการวางระบบต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ใช้งานได้เป็นปกติ จากภาพนาฬิกานี้ผลิตโดยบริษัท Electric Time Company, Inc. อยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นาฬิกานี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 เมตร ติดตั้งอยู่บนผนังกระจกสถานีกลางบางซื่อ มีความสูงจากระดับพื้นดินถึงจุดศูนย์กลางนาฬิกา 21 เมตร สำหรับหน้าปัดนาฬิกาที่มีเพียงหมายเลข ๙ เกิดจากความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ ๙ และตั้งใจที่จะให้เป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของสถานี
3. โครงการนําร่องสถานีอัจฉริยะ (Smart Station) ด้วยเทคโนโลยี 5G เป็นการพัฒนาต้นแบบสถานีอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี 5G เต็มรูปแบบแห่งแรกในประเทศไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการ 5G ได้จากที่นี่ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อจะเป็นศูนย์กลางแห่งการเดินทาง ทั้งทางบก ทางราง เชื่อมโยงไปถึงทางน้ำและทางอากาศด้วย ยกตัวอย่างบริการ 5G ที่อยู่ภายในสถานีกลางบางซื่อ เช่น เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักเดินทาง ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ มีระบบรักษาความปลอดภัย การให้บริการข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงในระหว่างการเดินทาง รวมถึงการจัดการเดินขบวนต่างๆ คาดว่ามีผู้ใช้บริการกว่า 200,000 คน/วัน
4. เข้าใจถึงรูปแบบขบวนรถไฟสายสีแดง(The S.R.T. Red Line Mass Transit System Project) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหน้าที่ในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ด้วยระบบรางที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่โครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนอันได้แก่ รถไฟฟ้ามหานคร ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ของ กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีสถานีหลักคือสถานีกลางบางซื่อ
5. เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนตามหลัก TOD เป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) คือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีหรือระบบขนส่งมวลชน ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและกิจกรรมในรูปแบบผสมผสาน ทั้งตั้งอยู่ในระยะเดินเท้าจากสถานีขนส่งมวลชนและศูนย์กลางพาณิชยกรรม โดยจัดสรรการใช้พื้นที่ให้มีทั้งที่อยู่อาศัย ร้านค้า สำนักงาน พื้นที่โล่งว่าง และพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งบริการพื้นฐานต่างๆ และส่งเสริมให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดินทางด้วยยานพาหนะหลากหลายประเภท ทั้งระบบขนส่งมวลชน จักรยาน และการเดินเท้า ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งแนวคิด TOD ได้รับความสนใจในนโยบายการพัฒนาเมืองสมัยใหม่ สร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชนให้ใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ การพัฒนาขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพสูงจะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง การที่ปริมาณผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนสูงขึ้น นอกจากจะเพิ่มความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางที่มีมูลค่าสูงรวมทั้งต้นทุนในการพัฒนาสาธารณูปโภคในพื้นที่ความหนาแน่นสูงแล้ว ยังทำให้มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ ที่พักอาศัยและสำนักงานที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสูงขึ้น โดยภาครัฐหรือเอกชนที่ลงทุนในการพัฒนาระบบสามารถนำมูลค่าส่วนเพิ่มมาสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนได้ โดยต้องมีการวางแผนครอบคลุมทุก ๆ ด้าน ได้แก่ ผังเมือง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน สาธารณูปโภค สาธารณูปการ และมาตรการต่าง ๆ