svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กนอ. เผย มูลค่าการลงุทน 9 เดือน ทะลุ 1.3 แสนล้าน ก้าวกระโดด 138 %

09 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในวิกฤต ยังมีโอกาส กนอ. เผย ยอดมูลค่าลงทุน 9 เดือน ปี 64 ทะลุ 1.3 แสนล้านบาท โตก้าวกระโดด 138 % ผลจากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ของฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรม ที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต

วันนี้ ( 9 ส.ค.64) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.63 - มิ.ย.64) กนอ.มีมูลค่าการลงทุนรวม คิดเป็นมูลค่า 130,289.44 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 เป็นจำนวน  138.27% เทียบกับมูลค่าการลงทุนปี 2563 อยู่ที่ 54,681.37 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ของฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต  สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่

 

ขณะที่ภาพรวมการลงทุนด้านอื่น ๆ ทั้งยอดขาย เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรม มีการชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ยังมีมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศชั่วคราว โดยมีประมาณ 927.09 ไร่ ประกอบด้วยยอดการขาย เช่าในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จำนวน 747.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 179.10 ไร่ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 49.59% จากปี 63 ที่มียอดขาย เช่า ช่วง 9 เดือน อยู่ที่ 1,838.96 ไร่ เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเลื่อนออกไปจากมาตรการจำกัดการเดินทาง

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกที่นักลงทุนสนใจเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง 13.77%  อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ 10.83% อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 7.80% อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักรและอะไหล่ 7.01% และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ 6.05% โดยนักลงทุนจากประเทศจีนให้ความสนใจมาลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่ง 15.15% รองลงมาคือ นักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 12.12% และสิงคโปร์ เกาหลี และสหรัฐอเมริกา 9.09%

 

“ปัจจุบันมีนักลงทุนแสดงความสนใจที่จะซื้อ เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจด้านโลจิสติกส์และคลังสินค้า ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่น เนื่องจากได้รับอานิสงค์เชิงบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่อเนื่อง ผนวกกับกระแสการย้ายการลงทุนออกจากประเทศจีนของกลุ่มนักลงทุนชาวจีน ญี่ปุ่น และอเมริกา มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น และประเทศไทยยังมีศักยภาพและความแข็งแกร่งในการรองรับการลงทุนเพื่อเป็นฐานและศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค"นายวีริศ กล่าว

ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศที่มีต่อการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมทุกนิคมฯ ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ. ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน สามารถตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี โดยเชื่อว่าในช่วงปลายปี 2564 การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมจะดีขึ้น หลังคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะควบคุมการระบาดระลอก 3 ได้ในระดับหนึ่งจากการจัดหาและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 และสร้างระดับภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวขึ้นได้”นายวีริศ กล่าว

 

สำหรับการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสะสมสิ้นสุดเดือนมิ.ย. 2564 มีจำนวนประมาณ 178,891 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ประมาณ 37,724 ไร่ และเป็นนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 141,167 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย ให้เช่า ประมาณ 118,667 ไร่  เป็นพื้นที่ขาย ให้เช่าแล้ว ประมาณ 90,972 ไร่ จึงยังคงมีพื้นที่เหลือสำหรับขาย ให้เช่าอีกประมาณ 27,695 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 4.70 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,944 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 815,942 คน

 

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พบว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีนักลงทุนมาลงทุนในไทยแล้วกว่า 230 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ยังมีกลุ่มที่ตัดสินใจขยายการลงทุนในไทย เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านซัพพลายเชน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่มีพื้นฐานของระบบซัพพลายเชนที่ดีในระดับหนึ่ง อีกทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการตั้งฐานธุรกิจในระยะยาว

logoline