svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

อ่านเกมม็อบ 7 สิงหาฯ โยงคอมมิวนิสต์..จุดติดจริงหรือ?

06 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 7 สิงหาคม กำลังเป็นคำถามว่า "จะจุดติด" หรือกำลัง “โดดเดี่ยวตัวเอง” กันแน่ และเหตุใดม็อบถึงประกาศลุยหนักนับจากนี้ แถมยังอ้างอิงถึงการเคลื่อนไหวของ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ด้วย 

ม็อบ 7 สิงหาฯ ดูท่าว่าจะเป็น "งานใหญ่" โดยสรุปให้ฟังง่ายๆ แบบนี้ 

 

1.องค์กรหรือกลุ่มที่นัดชุมนุม ประกอบด้วย กลุ่มเยาวชนปลดแอก คณะราษฎร 63 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ รีเดม ที่ม็อบทุกครั้ง รุนแรงทุกครั้ง 

 

2.นัดหมายกันวันเสาร์ที่ 7 สิงหาฯ เวลาบ่าย 2 โมงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วเคลื่อนพลไปพระบรมมหาราชวัง 

 

3.ชัดเจนว่าเป้าหมายของการเคลื่อนไหวพุ่งเป้าไปที่สถาบันหลักของชาติด้วย 

 

4.การเลือกวันในการจัดชุมนุม ตรงกับวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันที่ “คณะประชาชนปลดแอก” ที่ยกระดับมาจาก “เยาวชนปลดแอก” แถลงข่าวเปิดตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อปีที่แล้ว

 

โดยวันที่ 7 สิงหาคม ยึดโยงไปถึง "วันเสียงปืนแตก" เมื่อปี 2508 เป็นวันที่อดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เปิดฉากปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่บ้านนาบัว อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ถือว่าเป็น "วันแห่งการต่อสู้ด้วยอาวุธ" เพื่อรบกับทหารของรัฐบาล

 

เป็นการรับแนวคิดมาจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน "เหมาเจ๋อตุง" หรือ "ประธานเหมา" เพื่อโค่นล้ม "นายทุน - ขุนศึก - ศักดินา" ซึ่งหากเทียบกับโครงสร้างผู้ครองอำนาจในประเทศไทยปัจจุบัน ก็จะครบตามที่กลุ่มแกนนำม็อบ built เอาไว้ ทั้ง นายทุน ขุนศึก หรือทหาร และศักดินา หรือพวกที่มีชนชั้นสูงในสังคม

 

ผลจาก "สาระสำคัญ" ของการนัดชุมนุมวันที่ 7 สิงหาฯ เกิดกระแส 2 อย่าง คือ 

 

1.กระแสต้านจากกลุ่มรักสถาบัน ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องทันที และคาดว่าจะมีการจัดมวลชนเข้าขัดขวางหรือชนกับม็อบ 7 สิงหาฯ ด้วย โดยเฉพาะ "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน" หรือ ศปปส.

 

ขณะเดียวกัน แกนนำคนเสื้อแดงผู้โด่งดัง และเพิ่งเปิดตัวนำคาร์ม็อบเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จนทำให้การชุมนุมคึกคักขึ้นมาก ได้ประกาศว่าจะไม่ไปร่วมกิจกรรมวันที่ 7 สิงหาฯ และยังแสดงความห่วงใยกับผู้จัดกิจกรรมด้วย 

 

2.ฝ่ายตรงข้าม "ม็อบ 3 นิ้ว" ได้ออกมาเปิดโปงแนวคิดยึดโยงพรรคคอมมิวนิสต์ แล้วตั้งคำถามว่า นี่หรือที่อ้างว่าเรียกร้องประชาธิปไตย 

 

อ่านเกมม็อบ 7 สิงหาฯ โยงคอมมิวนิสต์..จุดติดจริงหรือ?

 

ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก ของอาจารย์อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ ระบุว่า 

 

"ทำไมต้อง 7 สิงหา เพราะ 7 สิงหา เป็นวันสัญลักษณ์ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ออกรบกับรัฐบาลประชาธิปไตยของไทย คนรุ่นใหม่โดนหลอก โดนคนที่ไม่เอาประชาธิปไตย หลอกมารบกับฝ่ายประชาธิปไตย ด้วยคำว่าออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ทั้งที่ความจริง คือ การทำลายประชาธิปไตย เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ด้วยคำโกหกว่า เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย" 

 

กลายเป็นว่าวันที่ 7 สิงหา เป็นวันคอมมิวนิสต์บุก และประชาธิปไตยถูกย่ำยี ไม่ใช่การเรียกร้องประชาธิปไตย

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ นายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา "ลุงป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้แสดงความเห็นในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ม็อบ 7 สิงหา ที่จะไปที่พระบรมมหาราชวัง ได้ทำลายการเคลื่อนคาร์ม็อบพินาศสิ้น! ทำลายโดยมีแผน หรือโดยมั่ว? แต่ผลคือทั้งแกนนำและม็อบ 7 สิงหา จบไม่สวย!"

 

 

จากความเคลื่อนไหวที่ยกมา บอกอะไรได้บ้าง 

 

1.ม็อบ 7 สิงหาฯ น่าจะเสียแนวร่วมไปเยอะ เพราะไปเรียกร้องในประเด็นที่ไม่ใช่เป้าหมายเดียวกับทุกฝ่าย นั่นคือขับไล่รัฐบาล 

 

2.คนไทยจำนวนไม่น้อยในสังคม น่าจะไม่ยอมรับแนวคิด หรือวาทกรรม "คอมมิวนิสต์" เพราะคำๆนี้ ติดอยู่ในภาพจำของคนอายุ 40 ปีขึ้นไปว่า เป็นระบอบการปกครองที่เป็นปฏิปักษ์กับรูปแบบการปกครองแบบไทยๆ 

 

คำถามก็คือ แกนนำม็อบก็รู้ว่า เคลื่อนไหวแล้วจะเกิดปัญหา 2 อย่างตามที่บอกมา แต่สิ่งน่าสนใจ เพราะเหตุใดม็อบจึงยังเดินหน้า แถมประกาศกร้าวแบบไม่สนใจหน้าอินทร์หน้าพรหม

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงประเมินให้ฟังแบบนี้ 

 

1.มวลชน 7 สิงหาฯ น่าจะอยู่ในระดับ "หลักพัน" จากปัญหาข้อเรียกร้องที่เสียแนวร่วม และยังเป็นช่วงโควิดระบาดหนัก แต่ม็อบจะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง และจะป่วนให้ถึงที่สุด เพื่อสร้างภาพว่าฝ่ายรัฐทำให้เกิดความรุนแรง 

 

2.แนวคิด "วันเสียงปืนแตก" ไม่ใช่การสู้แบบ "วันเดียวจบ" แต่เป็นการเปิดเกมยาว เพราะวันเสียงปืนแตก คือ "วันเริ่มรบ" เท่านั้น หลังจากนี้ม็อบจะทำสงครามยืดเยื้อ ปักหมุดระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงธันวาคม 

 

3.สาเหตุที่เลือกเล่นเกมยืดเยื้อ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะคุมโควิดไม่อยู่ สถานการณ์โลกก็เริ่มชัดว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา กำลังกลับมาระบาดอีกในหลายประเทศ ฉะนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะ"เอาอยู่" และเปิดประเทศได้ภายใน 120 วันตามที่ประกาศ ซึ่งขณะนี้เหลือแค่ 60 กว่าวันเท่านั้น 

 

ฉะนั้นหลังจากนี้ คนเดือดร้อนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นแนวร่วมของม็อบไปโดยปริยาย 

 

ขณะเดียวกัน การที่กลุ่มสามนิ้ว สามารถจัดม็อบได้โดยไม่กลัวโรคระบาด แตกต่างจากคาร์ม็อบ ที่ทำแบบกลัวๆ กล้าๆ จะสร้างผลทางจิตวิทยาให้ประชาชนทั่วไป เบื่อรัฐบาลมากขึ้น เพราะมองว่ารัฐบาลจัดการม็อบไม่ได้ ชาวบ้านยิ่งเดือดร้อน สุดท้ายรัฐบาลจะถูกมองว่าไร้สมรรถภาพ 

 

4.ปัจจุบัน รัฐบาลยังหลงทางไปมุ่งแก้เฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งแก้อย่างไรก็เอาไม่อยู่ แต่รัฐบาล "ลืม" หรือ "ให้น้ำหนักน้อย" กับเรื่องผลกระทบต่างๆ ที่จะตามมา โดยเฉพาะสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ซึ่งสภาพเศรษฐกิจและสังคมแบบที่ว่านี้ ในทางความมั่นคงถือเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อมากต่อการปลุกระดมมวลชน ที่ไม่ได้มีข้างหรือฝั่งทางการเมือง เหมือนที่คอมมิวนิสต์ปลุกระดมชาวนาตั้งกองทัพปลดแอก

 

อ่านเกมม็อบ 7 สิงหาฯ โยงคอมมิวนิสต์..จุดติดจริงหรือ?

ด้วยอารมณ์ของคนจากสภาพความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสด้วยพิษโควิด กรณีสภาพในเมืองไทยไปถึงขั้นนั้น หรือถูกสร้างให้รู้สึกไปถึงขนาดนั้น พลังของมวลชนที่เดือดร้อนอาจทะลุข้ามไปเขย่าสถาบันหลักของชาติที่เหนือกว่ารัฐบาล ตามความมุ่งหมายของ "มาสเตอร์มายด์" ของม็อบได้เหมือนกัน 

 

นี่คือ "แผน" ที่ฝ่าย "มันสมองของม็อบ" คิดเอาไว้ ส่วนรัฐบาลจะเดินเข้าทางม็อบหรือไม่ เพราะยังไม่ยอมเร่งแก้ไข "ผลกระทบ หรือสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายจากโควิด" จึงเป็นประเด็นที่น่าจับตาอย่างมาก 

 

เพราะแม้แต่ทีม "เสธ." หรือ "ฝ่ายเสนาธิการ" ของนายกฯเอง ก็ยังสรุปบทเรียนว่า มีอยู่ 5 ประเด็นที่จะสุมไฟทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ 

 

1.คุมการแพร่ระบาดของโควิดไม่อยู่

 

2.การบริหารวัคซีน ขาดประสิทธิภาพ ประชาชนเกิดความไม่พอใจ           

 

3.การเมืองในสภามีความขัดแย้งสูง ทั้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลกันเอง และพรรคฝ่ายค้าน

 

4.การเมืองนอกสภามีความเข้มข้นร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ 

 

5.ประชาชนขาดรายได้ เริ่มไม่มีกิน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ไม่ได้รับการเยียวยา หรือเยียวยาไม่ทัน ทำให้ระบบเศรษฐกิจล่มสลาย ภาคเกษตรไม่สามารถเป็นพื้นที่รองรับได้อีกต่อไป เพราะโควิดระบาดทั่วโลก ส่งออกก็ยาก 

 

อ่านเกมม็อบ 7 สิงหาฯ โยงคอมมิวนิสต์..จุดติดจริงหรือ?

 

เมื่อถึงจุดนั้น รัฐบาลอันตราย กลายเป็นความท้าทายว่ารัฐบาลจะไม่เดินไปสู่หุบเหวนั้นได้อย่างไร

 

เรื่องโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการบริหารเนชั่นทีวี

logoline