svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ เข้าไทยพรุ่งนี้ 1.5 ล้านโดส

29 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กระทรวงสาธารณสุข เผยภาพรวมการฉีดวัคซีนในกทม. เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ความคืบหน้าวัคซีนไฟเซอร์1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยช่วงเช้ามืดวันพรุ่งนี้

นพ.โอภาส การ์ยกวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยถึงความร่วมมือกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับ กรุงเทพมหานคร  คือ การสนับสนุนวัคซีน โดยผ่านคณะอนุกรรมการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรุงเทพมหานคร โดยจัดสรรผ่านการกระจายผ่านสำนักอนามัยให้พื้นที่ต่างๆในกทม.และ การดำเนินการร่วมกันทำงานเชิงรุกในพื้นที่ชุมชน ที่เรียกว่า comprehensive covid19 resphonse team หรือ CCRT จะมีกำลังคนหลายหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุข / สำนักอนามัยกทม./ จิตอาสา / ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งจะลงในชุมชนเพื่อไปค้นหาผู้ป่วยในชุมชนโดยวิธีการตรวจATK และจะฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และผู่ป่วยติดเตียง และให้ความรู้แนวทางการปฏิบัติตัวเรื่องโควิด-19 โดยทีม CCRT มีทีมทั้งหมด 260 ทีม ฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปแล้ว 59,708 ราย และมีการตรวจหาเชื้อจากผู้เข้าข่ายสงสัย  81,290 ราย 

ส่วนการฉีดวัคซีนในกรุงเทพมหานครเข็มแรก 4,643,227 ราย หรือ ร้อยละ 60.31 ส่วนประชาชนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีจำนวน 1,025 ,493 ราย ร้อยละ 13.32 ทำให้มีประชาชนมนกรุงเทพมหานครฉีดวัคซีนไปแล้ว 5,668,720 โดส ถ้าเทียบกับประชาชนกทม.ที่เป้าจะฉีดวัคซีนไว้ที่ 7,699,174 ราย ถือว่า กทม.มีการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน 

ซึ่งแผนที่วางไว้สิ้นเดือนกรกฎาคม ต้องฉีดวัคซีนในกทม. อย่างน้อย 5 ล้านโดส ขณะนี้มีการฉีดวัคซีนเกินไปแล้วมรวมถึงกลุ่มเสี่ยงที่กำหนดไว้คือ กลุ่มผู้สูงอายุ / โรคประจำตัวเรื้อรั้งต้องได้รับวัคซีนประมาณ ร้อยละ80 ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับเป้าหมาย ทั้งหมดก็เกิดจากความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ กระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานคร

นพ.โอภาส ระบุถึงการสำรวจการรับรู้ประชาชนเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 50 เขต 1,500 คน โดยมีคำถามว่า ท่านได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วหรือยัง พบว่า ประชาชนร้อยละ 46.5 ได้การรับฉีดวัคซีนไปแล้ว 1 เข็ม ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า รองลงมา วัคซีนซิโนแวค ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ได้รับวัคซีนแล้ว ร้อยละ 79.92 

ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่จะได้รับบริจาค 1.5 ล้านโดส นพ.โอภาสระบุว่า วัคซีน 1.5 ล้านโดส ที่ได้มาจะถึงประเทศไทยเวลา 04.00 น. และจะนำวัคซีนไฟเซอร์แล้วจะนำไปเก็บที่คลังวัคซีน ที่เรากำหนดไว้ ซึ่งการเก็บวัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70องศาเซลเชียส ซึ่งได้มีการเตรียมการไว้เรียบร้อย 

จากนั้นจะมีกระบวนการในการสอนวิธีการผสมการฉีดวัคซีน เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์จะไม่เหมือนวัคซีนชนิดอื่น ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์ จะต้องจัดเก็บอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส จากนั้นจะขนส่งไปยังหน่วยฉีดและเก็บที่อุณหภูมิ2-8 องศาเซลเซียส ตอนที่เก็บอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียสวัคซีนจะอยู่ได้ไม่นาน อยู่ได้แค่ 4 สัปดาห์ เพราะฉะนั้นถ้าเอาออกมาต้องรีบนำออกมาฉีดให้ประชาชน 

กระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการจัดสรรไปยังกลุ่มเป้าหมายเป็นไปตามมติที่ประชุม

  • บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ (เข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน) จำนวน 700,000 โดส

  • ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย จำนวน 645,000 โดส

  • ผู้สูงอายุ

  • ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค อายุ 12 ปีขึ้นไป

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

  • ชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทย เน้นผู้สูงอายุ และโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศ ที่จำเป็นต้องรับวัคซีนไฟเซอร์ เช่น นักการทูต นักศึกษา จำนวน 150,000 โดส

  • ทำการศึกษาวิจัย (ได้รับการอนุมัติโดยคณะกรรมการวิจัยจริยธรรม) จำนวน 5,000 โดส

  • สำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ จำนวน 40,000 โดส

ซึ่งวัคซีนไฟเซอร์มีความเข้มข้นจึงต้องมีการผสมกับน้ำเกลือให้ได้ตามสัดส่วนเพื่อนำมาฉีดให้กับประชาชน โดยวัคซีน 1ขวด ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนประมาณ 6 คน และจะมีคณะกรรมการตกลงว่าจะนำวัคซีนไฟเซอร์มาฉีดในกลุ่มไหนบ้างในระยะต่อไป 

ส่วนความคืบหน้าที่สหรัฐอเมริกาจะบริจาควัคซีนไฟเซอร์เพิ่มเติม ตอนนี้รอทางสหรัฐอเมริกาประกาศยืนยันอีกครั้ง

ขณะที่พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ระบุถึงการดูแลการบริหารจัดการวัคซีนในกทม. ซึ่งกรุงเทพมานครโดยคณะกรรมการโรคติดต่อ ได้มีการตั้งอนุกรรมการ เพื่อมาบริหารจัดการวัคซีนที่ได้จากกระทรวงสาธารณสุข 

ที่ผ่านมากรุงเทพหมานครได้ดำเนินนโยบายสอดคล้องกับกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงนี้จะให้บริการวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ / 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย ที่จะให้วัคซีนในกลุ่มดังกล่าวให้ได้ร้อยละ 70 ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 

ส่วนทีม comprehensive covid19 resphonse team หรือ CCRT มีทีมทั้งหมด 260 ทีม ซึ่งเป็นทีม ป้องกันแก้ไขปัญหาโควิดเชิงรุกลงไปดำเนินการถึงบ้าน และชุมชนโดยมีเป้าหมาย 2,016 ชุมชน ที่จะลงตรวจหาเชื้อแบบเร็ว ด้วยวิธีATK และจะฉีดวัคซีนในกลุ่มที่เข้าถึงยาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป / กลุ่มที่มีโรคประจำตัว และผู้ป่วยติดเตียง และให้ความรู้แนวทางการปฏิบัติตัวเรื่องโควิด-19

logoline