svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นเครื่องสำอาง-รองโฆษกฯยันไม่ขึ้นภาษี

22 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอาง ทำคนแตกตื่นหนักหวั่นราคาพุ่งทั้งที่เป็นสิ่งจำเป็นของผู้หญิง ก่อนที่รองโฆษกประจำสำนักนายกฯจะโพสต์ชี้แจงไม่ขึ้นภาษีแน่นอน

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเครื่องกำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง ให้ผ้าอนามัยชนิดสอด ที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องสำอาง ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ราชกิจจาฯ ประกาศให้ "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นเครื่องสำอาง-รองโฆษกฯยันไม่ขึ้นภาษี

โดยท้ายประกาศ มีการลงหมายเหตุชี้แจงว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ นิยามของคำว่า "เครื่องสำอาง" ในมาตราที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง และโดยที่มีความจำเป็น ต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอดเพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภคได้ สมควรกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

 

หลังมีการเผยแพร่กฎกระทรวงดังกล่าว ก็เกิดกระแสในโลกออนไลน์ทันที แฮชแท็ก #ผ้าอนามัยไม่มีภาษี ทะยานขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในทวิตเตอร์ โดยประเด็นหลักที่มีความกังวลคือ เมื่อมีการจัดประเภท ผ้าอนามัยแบบสอด ไปในหมวดเครื่องสำอาง อาจจะทำให้อัตราภาษี เพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 ตามเครื่องสำอางในท้องตลาด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างร้อนแรง เพราะมองว่า "ผ้าอนามัย" ไม่ว่าจะเป็นแบบใด คือสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงทุกคน 

 

ล่าสุด น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ยืนยัน ผ้าอนามัย เป็นสินค้าควบคุม ไม่ขึ้นภาษี

 

ชี้แจง ประกาศราชกิจจาฯ ผ้าอนามัยแบบสอด เป็นเครื่องสำอาง ดังนี้

 

  1. ปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอกและชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิดถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอางคือ วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ
  2. ปี 2558 มีการแก้ไข พ.ร.บ.เครื่องสำอางใหม่ มีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ “ผ้าอนามัยชนิดสอด” หลุดจากคำนิยามของเครื่องสำอาง แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอก ยังเป็นเครื่องสำอาง
  3. จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอด เป็นเครื่องสำอาง
  4. ผ้าอนามัย เป็น 1 ใน รายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย หรือ ถึง 30% ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ
logoline