svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

หนุ่มกู้ภัย เปิดใจ การเก็บศพในยุคโควิด-19 ลำบากแค่ไหน อยากให้สังคมเข้าใจ

22 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หนุ่มกู้ภัยร่วมกตัญญู เปิดใจ การทำหน้าที่เก็บศพในยุคโควิด-19 ยากเย็นแค่ไหน เพราะต้องทำตามขั้นตอน และระมัดระวังโรคติดต่อขั้นสูงสุด หากทำมั่วก็อาจจะทำผิดกฎหมายได้เช่นกัน

สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ที่กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤตที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดตั้งแต่ปี 2563 ถึงตอนนี้เรากำลังเดินมาถึงจุดที่มีคนนอนเสียชีวิตตามข้างถนน หรือทางเท้า ซึ่งเป็นภาพที่เคยเกิดขึ้นในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน จนกลายเป็นกระแสกระดราม่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปเก็บกู้ร่างล่าช้า บางรายถูกทิ้งไว้ข้ามวัน โดยที่มีใครทราบว่าความจริงเป็นอย่างไร การเก็บศพในยุคนี้ต้องใช้เวลา หรือระมัดระวังตัวมากแค่ไหน 

หนุ่มกู้ภัย เปิดใจ การเก็บศพในยุคโควิด-19 ลำบากแค่ไหน อยากให้สังคมเข้าใจ

"ไกรศร ทองเมือง" เจ้าหน้าที่ขับรถเก็บร่างผู้เสียชีวิตประจำมูลนิธิร่วมกตัญญูได้อธิบายขั้นตอนการจัดเก็บร่างผู้เสียชีวิตในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติเมื่อรับการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้วว่ามีการพบร่างผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่มูลนิธิจะต้องแบ่งประเภทเป็น การเก็บร่างผู้ที่ไม่มีญาติ และต้องนำส่งชันสูตรเนื่องจากไม่ สามารถสอบสวนโรคได้ ว่าพบการติดเชื้อโควิด-19 

 

อีกส่วนหนึ่งคือผู้เสียชีวิตที่มีญาติ ต้องสอบถามว่าผู้เสียชีวิตติดเชื้อหรือไม่ และญาติจะดำเนินการอย่างไรต่อ หากทางญาติเอง ต้องการให้มูลนิธิช่วยเหลือเรื่องการจัดการร่างผู้เสียชีวิตนำส่งวัดและหาโลงศพ เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการต่อให้จนจบกระบวนการ 

ส่วนกรณีที่หลายคนตั้งคำถามว่าเหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเข้าไปดำเนินการเก็บร่างผู้เสียชีวิตล่าช้าจนเกิดเป็นภาพที่มีร่างนอนอยู่กลางถนน ส่วนนี้อยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่าตามขั้นตอนดำเนินการ เมื่อมีการพบร่างผู้เสียชีวิตผู้พบเจอหรือญาติจะต้องทำการติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบและเข้าไปในที่เกิดเหตุก่อนจากนั้นเจ้าหน้าที่มูลนิธิจึงจะได้รับการประสานต่อและเข้าไปดำเนินการ 

 

ต้องทำความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มูลนิธิไม่มีอำนาจและสิทธิ์ในการเข้าถึงร่างผู้เสียชีวิตก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากเกิดข้อผิดพลาดเจ้าหน้าที่เองอาจจะทำผิดกฎหมายในส่วนการซ่อนเร้นอำพรางศพ

 

นายไกรศร เปิดเผยว่า ทุกวันนี้จากการรับแจ้งให้ไปเก็บร่างผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุโรคโควิด-19 มีจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิต ทั้งหมดเฉลี่ยประมาณ 20 คน

 

สำหรับมูลนิธิร่วมกตัญญูได้มีการจัดชุดเฉพาะกิจในการจัดเก็บร่างผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 และผู้ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะมีการติดโรคโดยเฉพาะแยกออกจากชุดปกติ แบ่งการทำงานเป็นรอบเช้าและค่ำ รอบละ 1 คันต่อเจ้าหน้าที่ 6 คน ในการเดินทางแต่ละครั้ง ต้องใช้เวลากว่าเจ้าหน้าที่จะไปถึง และเมื่อไปถึงก็จะต้องมีการสอบสวนโรค เจ้าหน้าที่จะต้องมีการเตรียมใส่ชุดปฏิบัติการPPE ทั้งหมด และการจัดเก็บในแต่ละครั้งจะต้องนำร่างผู้เสียชีวิตใส่ห่อพลาสติก 3 ชั้น ในทุกชั้นก็จะต้องมีการพ่นฆ่าเชื้อทั้งหมด ฉะนั้นแล้ว การเก็บร่าง ใน 1 ครั้งจึงใช้เวลามากกว่าการเก็บร่างผู้เสียชีวิตตามปกติ 

 

และหากร่างผู้เสียชีวิต ไม่สามารถสอบสวนโรคและระบุได้ว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ เจ้าหน้าที่ก็จะต้องประเมินไว้ก่อนว่าร่างดังกล่าวเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงและต้องเรียกชุดเฉพาะกิจออกไปปฏิบัติหน้าที่ การที่รถเจ้าหน้าที่ออกไปปฏิบัติงานแต่ละครั้งจะสามารถขนอุปกรณ์ออกไปจัดเก็บร่างได้ 6 ร่าง แต่ ในรถ 1 คันสามารถขนร่างผู้เสียชีวิตได้เพียง 2 คนสูงสุด ก็จะต้องนำร่างไปส่งที่วัดเพื่อฌาปนกิจทันที และถึงจะวนรถออกไปรับร่างตามลำดับที่รับแจ้ง ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เคยปฏิบัติงาน รับ 4-5 ร่างภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีเพียง 2 หน่วยงานคือปอเต็กตึ้งและร่วมกตัญญูเท่านั้นที่จะสามารถดำเนินการจัดเก็บร่างผู้เสียชีวิตได้ นั่นจึงเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้การปฏิบัติงานในการเก็บร่างแต่ละครั้งเกิดความล่าช้า 

 

และเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติงานได้ก็จะต้องผ่านการอบรมอย่างถูกต้องเท่านั้นถึงจะสามารถเก็บร่างผู้เสียชีวิตที่ติดเชื้อโควิด-19ได้ ไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ธรรมดาจะทำได้เพราะทุกครั้งจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงเนื่องจากผู้เสียชีวิตยังสามารถปล่อยสารคัดหลั่งออกมาได้ตลอดเวลา 

"ถ้าถามว่าเหนื่อยไหม ท้อไหมผมตอบเลยว่าไม่เพราะมันคือหน้าที่ที่เราเลือกมาทำตั้งแต่แรก อุปกรณ์ เจ้าหน้าที่พร้อมหมดถ้าต้องขออะไรสักอย่างขอให้เข้าใจว่าพวกเราทำเต็มที่แล้วก็พอ"

 

หนุ่มกู้ภัย เปิดใจ การเก็บศพในยุคโควิด-19 ลำบากแค่ไหน อยากให้สังคมเข้าใจ

 

logoline