svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ว่าที่ปลัดมท.ใหม่ "จตุพร บุรุษพัฒน์" แค่ "ข้ามห้วย" หรือ "คืนถิ่น"

20 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ยังคงต้องเกาะติดสำหรับการเสนอชื่อ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ มาขึ้นหิ้งปลัดกระทรวงมหาดไทย แทน “ปลัดฉิ่ง” ฉัตรชัย พรหมเลิศ ซึ่งแว่วว่า จะไปนั่งหัวหน้าพรรคการเมือง สาขา 3 ป. เพื่อรองรับความผันผวนทางการเมือง

แน่นอนว่าชื่อ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ หลังมีข่าวเตรียมไปนั่งตำแหน่งปลัดมหาดไทย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากคนในกระทรวงคลองหลอด หรือแม้กระทั่งข้าราชการเกษียณอายุไปแล้ว ที่ต่างมองการแต่งตั้งรอบนี้ ทำลายหลักปฏิบัติมาเกือบ 100 กว่าปี ตั้งแต่มีกระทรวงมหาดไทย

 

แม้จะมีความพยายามลดโทน นายจตุพร จากคำว่า “ย้ายข้ามห้วย” มาเป็นคำว่า “กลับคืนสู่ถิ่นเก่า” สมัยครั้งแรกเริ่มชีวิตราชการ ที่เคยทำงานกระทรวงนี้ ในสังกัดกรมการปกครอง ก่อนจะโบยบินไปได้ดิบได้ดี กับชีวิตราชการในกระทรวงทรัพย์ฯ ก็คงพูดได้ ไม่เต็มปากเสียทีเดียวนัก 

 

เช่นเดียวกันการจะบอกว่า นายจตุพร ไม่ใช่คนอื่นไกล คือ “สิงห์ดำ” และเป็น “ลูกหม้อเก่า” ซึ่งก็ต้องยอมรับคำที่ตรง ใกล้เคียง และถูกต้องสุด คือ “เก่า” ซึ่งก็คงเนิ่นนานตาปี 

 

หากย้อนดูประวัติ “สิงห์ดำ” นายจตุพร บุรุษพัฒน์ จบปริญญา ทั้งตรี-โท จากคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตรงนี้ก็คงไม่มีข้อครหา

 

แต่เมื่อเข้ารับราชการแบบเต็มตัว นายจตุพร ทำงานเกี่ยวกับด้านทรัพย์ฯมาตลอด เห็นได้จากตำแหน่งไล่เรียงตั้งแต่ เป็นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ก่อนเป็นรองปลัด และขึ้นแท่นปลัดจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น หากพูดว่า “ลูกหม้อเก่า” คงเปรียบเสมือนภาพ “ซีเปีย”  

 

“นายจตุพร” ชื่อนี้ไม่ใช่บังเอิญกับการโยกข้ามห้วย เพราะเป็นรุ่นน้องคนสนิท “ปลัดฉิ่ง” ตั้งแต่ครั้งเรียนร่วมรั้วพระเกี้ยว กระทั่งจนจบ เดินตามรอยกันมาเข้ารับราชการ และยิ่งสนิทมากขึ้น เมื่อตอนนายฉัตรชัย เข้ารับราชการโดยเป็นหน้าห้อง นายวิชัย ธรรมชอบ อดีดผู้ว่าฯ ยโสธร และอดีตเลขานุการ รมว. มหาดไทย

 

แต่เส้นทางใช่จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะเห็นว่ายังมีแคนดิเดตจาก “สิงห์ดำ” อีกหลายคน ก็ถูกเสนอชื่อเข้าชิง เช่น นายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมที่ดิน นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยกเว้น นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่จบจาก วิศวกรรมศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แต่ที่ข่าวแว่วล่าสุดเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการตรวจคุณสมบัติบรรดาผู้ถูกเสนอชื่อ ทั้งด้านความรู้ ความอาวุโส ความสามารถ ประวัติรับราชการ และโดยเฉพาะทางด้านการเมือง โดยต่างลงความเห็นพ้องตรงกัน นายจตุพร ถือว่าเข้าเกณฑ์สุด 

 

เนื่องจากเคยทำงานประสานมูลนิธิป่ารอยต่อ อีกทั้งยังรู้จักบุคคลในแวดวงทางการเมืองจำนวนมาก และเป็นอย่างดี ดังนั้น การย้ายจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มานั่งปลัดมหาดไทย จึงไม่ใช่ปัญหา และสามารถเคลียร์ได้ลงตัว ไม่สะท้านต่อแรงต้าน 

 

ซึ่งการเอานายจตุพร คืนถิ่นเก่าดั่งเช่นที่ว่ามา นอกจากความพิสมัยส่วนตัวแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญ คือ มาจัดแจงการแต่งตั้งโยกย้าย แทนที่ผู้ว่าฯราชการ กำลังรอเกษียณ จำนวน 19 คน เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา ดังนั้น จึงต้องจับตาการประชุม ครม. ในวันที่ 20 ก.ค.นี้  โดย “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีมหาดไทย จะเสนอชื่อต่อที่ประชุม หลังต้องเลื่อนมาจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องด้วยติดแก้ไขปัญหาเยียวยาประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ 

 

นายจตุพร นอกจากอายุราชการที่ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 4 ปี อายุอานามก็ไล่เรียงกับชื่อแคนดิเดตรายอื่นๆ แต่ด้วยมาดนักประสาน เข้าถึงกลุ่มการเมือง และโดยเฉพาะยังได้เสียงเชียร์ จาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ จึงเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับคนอื่น ดังนั้น “แบเบอร์” ก็คงไม่หลุดไปจากนี้ 

 

สำหรับรายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่จะเกษียณในช่วงเดือน ก.ย นี้ ประกอบด้วย 

  1. นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม ผู้ตรวจราชการ กระทรวงมหาดไทย  
  2. นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา  
  3. พ.ต.ท มล. กิตติบดี ประวิชร ผู้ว่าฯ กระบี่  
  4. นายเกียรติศักด์ จันทรา ผู้ว่าฯ สระแก้ว  
  5. นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าฯ สงขลา  
  6. นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่  
  7. นายชรัส บุญณสะ ผู้ว่าฯ สมุทรสงคราม  
  8. นายชัยสิทธิ์ พานิชพงษ์ ผู้ว่าฯ ยะลา   
  9. นายโชคดี อมรวัฒน์ ผู้ว่าฯ พะเยา  
  10. นายธีระ อนันตเสรีวิทยา  ผู้ว่าฯ ชุมพร   
  11. นายประเสริฐ ลือขาธนานนท์ ผู้ว่าฯ หนองคาย   
  12. นายพัลลพ สิงหเสนีย์ ผู้ว่าฯ ประจวบคีรีขันธ์   
  13. นายภัคพงษ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าฯ เพชรบุรี    
  14. นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา   
  15. นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าฯ ตราด 
  16. นายราชิต สุดพุ่ม ผู้ว่าฯ ปัตตานี   
  17. นายสมบูรณ์ ศิริเวช ผู้ว่าฯ ชัยนาท  
  18. นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าฯ อุบลราชธานี    
  19. นายสิริรัฐ ชมอุปการ ผู้ว่าฯ นครสวรรค์
logoline