svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

สื่อนอกเผย ชาติที่โควิดระบาดหนักแม้ระดมฉีดวัคซีน ส่วนใหญ่ใช้"วัคซีนจีน"

11 กรกฎาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า หลายประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาโควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ถึงแม้จะมีอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงแล้วก็ตาม ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ใช้วัคซีนจากจีนเป็นหลัก

ซีเอ็นบีซี ได้ทำการสำรวจข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา โดยใช้ตัวเลขจาก Our World in Data ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมถึงองค์การอนามัยโลก รัฐบาล และนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยนำเอาข้อมูลของ 36 ประเทศที่มีอัตราผู้ติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์มากกว่า 0.1% (1,000 คน ต่อประชากร 1 ล้านคน) จากนั้นก็นำมาตรวจสอบว่าใน 36 ประเทศดังกล่าว มีชาติใดบ้างที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 60% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส

 

ผลปรากฏว่ามี 6 ประเทศที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว และใน 6 ประเทศนี้ มีถึง 5 ชาติที่ใช้วัคซีนสัญชาติจีนเป็นวัคซีนหลักของประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เซเชลส์, มองโกเลีย, อุรุกวัย และชิลี มีเพียง สหราชอาณาจักร ชาติเดียวที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวแต่ไม่ได้ใช้วัคซีนของจีน

 

โดย ยูเออี, เซเชลส์ และ มองโกเลีย ใช้วัคซีน ซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนหลัก ส่วน ชิลี กับ อุรุกวัย ใช้ ซิโนแวค เป็นหลัก ขณะที่สหราชอาณาจักรมีความหลากหลายมากกว่า คือใช้ทั้ง แอสตราเซเนกา, โมเดอร์นา, ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน

 

สื่อรายดังกล่าวยังอธิบายเพิ่มเติมว่า มีหลายปัจจัยที่อาจทำให้จำนวนผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูง เพราะวัคซีนไม่ใช่การป้องกันโควิดได้แบบ 100% ดังนั้นผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนยังสามารถติดเชื้อได้ ขณะเดียวกัน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ก็พิสูจน์ได้แล้วว่าสามารถ "เอาชนะวัคซีน" ได้ดีขึ้น

 

นอกจากนี้ นักระบาดวิทยายังชี้แจงว่า จากตัวเลขนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศต่างๆควรหยุดใช้วัคซีนโควิด-19 จากจีน เพราะวัคซีนดังกล่าวยังจำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีรายได้ต่ำ-ปานกลาง ที่ไม่สามารถไปแข่งขันเรื่องการเจรจาซื้อวัคซีนกับบรรดาชาติที่ร่ำรวยกว่าได้ แต่ถึงกระนั้นบางประเทศก็ปฏิเสธวัคซีนของจีนอย่างชัดเจนไปแล้ว เช่น คอสตาริกา ที่เมื่อเดือนที่แล้วปฏิเสธการส่งมอบวัคซีนที่พัฒนาโดย ซิโนแวค หลังจากสรุปว่า "ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ" 

 

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้อนุมัติวัคซีนจาก ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยรายงานว่า วัคซีนของ ซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพ 79% ต่อการติดเชื้อโควิดตามอาการ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนในบางกลุ่ม เช่น คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังไม่ชัดเจน ขณะที่ประสิทธิภาพของ ซิโนแวค อยู่ที่ประมาณ 50-80% ขึ้นอยู่กับประเทศที่ทำการทดลอง 


ผู้เชี่ยวชาญบางคนอธิบายว่า ความผันแปรของตัวเลขประสิทธิภาพของวัคซีน มาจากชนิดวัคซีนที่แตกต่างกัน โดย วัคซีนของ ซิโนฟาร์ม และ ซิโนแวค เป็นวัคซีนชนิดกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันโดยทำให้ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสที่อ่อนแอหรือ "ไม่ทำงาน" ซึ่งเป็นเทคโนโลยีวัคซีนที่ใช้กันมานานหลายทศวรรษ ขณะที่วัคซีน ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค และ โมเดอร์น่า เป็นวัคซีนแบบ mRNA หรือการสั่งให้ร่างกายสร้างโปรตีนจากไวรัสที่กระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน ซึ่ง ไมเคิล เฮด นักวิจัยอาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกจากมหาวิทยาลัยเซาธ์แฮมป์ตัน ในสหราชอาณาจักรเขียนว่า "วัคซีนเชื้อตายนั้นผลิตได้ง่ายและขึ้นชื่อในเรื่องความปลอดภัย แต่มีแนวโน้มที่จะสร้างการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนประเภทอื่นๆ"

 

ดังนั้น เมื่อวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำ ผู้คนจำนวนมากก็ต้องได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อให้เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่" โดยการศึกษาของสถาบันเคอร์บีแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในซิดนีย์ บอกว่า หากใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% จะต้องฉีดไม่ต่ำกว่า 66% ของจำนวนประชากร แต่หากใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 70% สัดส่วนของประชากรที่ต้องฉีดวัคซีนจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 86% ถึงจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้

 

ที่มา: CNBC

logoline