svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ร้องป.ป.ช.สอบ"ชวน"ตั้ง"ชัยชาญ"นั่งกก.สมานฉันท์

01 กุมภาพันธ์ 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เรืองไกร" ยื่น ป.ป.ช. สอบ "ชวน หลีกภัย" หลังเซ็นตั้ง "ชัยชาญ ช้างมงคล" นั่งกรรมการสมานฉันท์ ชี้ขัดรัฐธรรมนูญ ด้าน "ราเมศ" โต้ทันควันยันมาทำเพื่อประโยชน์ชาติ ย้ำควรต้องแยกแยะ

1 กุมภาพันธ์ 2564 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า วันนี้ (1ก.พ.) ได้ส่งจดหมาย EMS ขอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สอบ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่จากกรณีตั้ง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ไปเป็นกรรมการสมานฉันท์ ตามประกาศรัฐสภา โดยลงวันที่ 11 ม.ค. 2564 ซึ่งเป็นประกาศของฝ่ายนิติบัญญัตินั้น จะเป็นการใช้อำนาจขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่


ทั้งนี้ เนื่องจากตามประกาศดังกล่าว อ้างถึงการอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ แต่เมื่อไปพิจารณาเนื้อหาที่บัญญัติ กลับไม่มีข้อความใดให้อำนาจไว้โดยตรง เพื่อตั้งกรรมการแต่อย่างใด อีกทั้งประกาศก็ไม่ได้อ้างถึงมาตราอื่นของรัฐธรรมนูญไว้ด้วย ดังนั้น การตั้งกรรมการใดๆ จะมีแต่ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ซึ่งให้อำนาจประธานฯตั้งกรรมการได้ตามที่กฎหมายบัญญัติเท่านั้น

ร้องป.ป.ช.สอบ"ชวน"ตั้ง"ชัยชาญ"นั่งกก.สมานฉันท์

"พล.อ.ชัยชาญ ไม่ใช่ ส.ส. และตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 10/2551 เคยวางบรรทัดฐานไว้แล้วในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่ห้าม ส.ส. ไปเป็นกรรมการในฝ่ายบริหาร ตามหลักการดังกล่าว รัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. ก็ต้องไม่ไปดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติด้วยดังนั้น การที่นายชวน ตั้งรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ ส.ส. ให้มาเป็นกรรมการในฝ่ายนิติบัญญัติ จึงอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ดังนั้น การอ้างมาตรา 80 วรรคสี่ จึงอาจเข้าข่ายมีพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตรา 234 (1) ซึ่งอยู่ในอำนาจ ป.ป.ช." นายเรืองไกร กล่าว


นายเรืองไกร กล่าวตามมาว่า เว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรได้เผยแพร่ว่า กรรมการสมานฉันท์ได้ประชุมไปแล้วสองครั้งเมื่อวันที่ 18 และ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา การประชุมดังกล่าวคงมีการจ่ายเบี้ยประชุมด้วย ซึ่งเป็นการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน หากไม่ชอบ ก็ต้องมีการเอาผิดตามกฎหมายและเรียกคืนเงินที่รับไปแล้ว ซึ่งถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว


นายเรืองไกร สรุปว่า ด้วยเหตุนี้ตนจึงมีเหตุที่ต้องร้องขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายจงใจใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญตามมาตราที่เกี่ยวข้องดังกล่าวหรือไม่

ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา แถลงตอบโต้ นายเรืองไกร ว่า นายชวน แต่งตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ชอบด้วยรัฐธรรมนนูญ มาตรา 80 วรรคสี่ ทุกกประการ ไม่มีอะไรที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 186 ประกอบมาตรา 184 เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะมาตรา 184 ระบุไว้ชัดเจน ว่าไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีให้เป็นกรรมการในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภาฯ หรือเป็นกรรมการที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

"นายเรืองไกรควรแยกให้ออกคำว่าประโยชน์ของส่วนรวม กับประโยชน์ของส่วนตน หากการใช้ตำแหน่งไปในทางที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไปแสวงหาประโยชน์ นั่นคือการขัดกันแห่งผลประโยชน์ แต่กรรมการสมานฉันท์เป็นกรรมการที่ตั้งขึ้นมา เพื่อประโยชน์ของประเทศ พล.อ.ชัยชาญ เข้าทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศ ต่างจากนายเรืองไกร ที่ร้องเรื่องดังกล่าว ก็จะถือว่าเป็นการร้องที่ขัดต่อประโยชน์ของประเทศหรือไม่ ประชาชนดูออกและตัดสินได้" นายราเมศ ระบุ


ร้องป.ป.ช.สอบ"ชวน"ตั้ง"ชัยชาญ"นั่งกก.สมานฉันท์

logoline