svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

โบดำ "แก้หวยแพง"

30 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การแก้ปัญหา "หวยแพง" หรือพูดเต็มๆ ก็คือ "แก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลขายเกินราคา เป็นหนึ่งในนโยบายของ คสช. หลังเข้าควบคุมอำนาจการปกครอง และสัญญาว่าจะ "คืนความสุขให้ประชาชน" ด้วยการให้ "คอหวย" ทั่วทั้งประเทศไทย ได้ซื้อล็อตเตอรรี่ในราคา 80 บาทเท่ากับราคาที่ปรากฏบนหน้าสลาก

ที่ผ่านมาราคาล็อตเตอรี่แพงหนักข้อ เลขเด็ดเลขสวยบางงวด พุ่งไปถึงใบละ 120-150 บาท ทั้งยังมีการ "รวมชุดเลขเด็ด" ซึ่งเมื่อหารออกมาแล้วราคา "เลขชุด" ต่อ 1 ใบ ยิ่งแพงขึ้นไปอีก เพราะเป็นเลขสวย เลขดัง ตามกฎ "ดีมานด์-ซัพพลาย" 

สาเหตุที่ล็อตเตอรี่แพง ในอดีตเป็นเพราะกองสลากได้ทำสัญญาจำหน่ายโควต้าสลากให้กับ "นิติบุคคล 5 ราย" ที่เรียกกันติดปากว่า "5 เสือกองสลาก" ซึ่งถือว่าเป็น "ยี่ปั๊วรายใหญ่ของประเทศ" เมื่อรับโควต้าสลากแล้วก็นำไปกระจายให้กับรายย่อยโดยกินส่วนต่างราคา นัยว่าช่วยทำหน้าที่แทนกองสลาก แต่บางคนเรียกว่าเป็น "เสือนอนกิน" เพราะไม่ต้องทำอะไรก็ได้กำไรจาก "ค่าส่วนต่าง" แถมยังได้มากขึ้นจากระบบ "รวมชุด" โดยผู้รับภาระสุดท้ายคือ "คอหวย" ที่ตกเป็นทาสเลขเด็ดเลขดังนั่นเอง 

นอกจากนั้น "ยี่ปั๊วรายใหญ่" ยังได้ "ค่าต๋ง" จากเจ้ามือระดับ "ซาปั๊ว" เช่น ผู้ค้าระดับจังหวัดที่รับสลากไปจำหน่ายต่อในจังหวัดของตนเอง ซึ่งก็มีระบบ "โควต้า" ย่อยลงไปอีกเช่นกัน โดยเจ้ามือรายใหญ่ระดับจังหวัดก็จะได้สลากจำนวนมาก ขณะที่เจ้าเล็กเจ้าน้อยก็จะได้ 5 เล่ม 10 เล่ม พวกนี้ต้องจ่าย "ค่าต๋ง" ทั้งสิ้น 

จากการตรวจสอบข้อมูลจริงของนักวิจัยที่เข้าไปตรวจสอบกลไกค้าสลาก พบว่า "5 เสือกองสลาก" นั้น แท้ที่จริงแล้วมีแค่ "3 เสือ" คือ นิติบุคคล 3 รายที่จดทะเบียนในนามบริษัท และห้างหุ้นส่วนจำกัดในชื่อต่างๆ /หนำซ้ำใน 3 รายนี้ยังมี 2 รายที่เป็นเครือข่ายเดียวกันเสียอีก ฉะนั้นหากจะเรียกว่ากลไกโควต้าสลากและการกระจายสลากคือการ "ผูกขาด" โดยคนเพียงกลุ่มเดียวก็คงไม่ผิด ทั้งนี้ไม่นับโควต้าสลากที่กระจายให้คนพิการ 10
รัฐบาล คสช.นั้น "ทรงดี" มีการตั้ง "บิ๊กแดง" พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อครั้งยังครองยศ "พลโท" ไปเป็นประธานบอร์ดกองสลาก และยังตั้ง พล.ต.ฉลองรัฐ นาคอาทิตย์ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย เรียกว่า "ใช้สีเขียวปราบมาเฟีย" 

ปลายปี 2558 บอร์ดกองสลากมีมติไม่ต่อสัญญาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากรายใหญ่เดิม หรือที่เรียกว่า "ยี่ปั๊ว" และเปิดให้ประชาชนทั่วไปจองซื้อได้ผ่านการทำธุรกรรมกับธนาคารกรุงไทย ทำให้หลายคนแซ่ซ้องสรรเสริญว่า คสช.ล้ม "5 เสือกองสลาก" ราบคาบ
แต่ปฏิบัติการของกองสลากยุค คสช. ก็ประสบความสำเร็จได้ไม่นาน และกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่ เพราะบรรดา "ยี่ปั๊วรายใหญ่" ปรับตัว สร้างโครงข่ายนอมินีขึ้นมาจองซื้อสลากแทน ทำให้ได้โควต้าสลากจำนวนมากเหมือนเดิม ที่น่าตกใจก็คือ 1 ใน 3 ของ "5 เสือกองสลาก" มีชื่อเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วย ทำให้เกิดคำถามว่า นโยบายการแก้ปัญหาสลากเกินราคาด้วยการล้มโควต้า "ยี่ปั๊ว" เป็นแค่ละครตบตาหรือไม่ 
ขณะที่การ "รวมชุดเลขดัง" กลับได้รับความนิยมมากขึ้น มีธุรกิจของบรรดาดารา หรือคนดัง เซเลบ ที่โฆษณาว่าตนเองถูกหวยทุกงวด ช่วยดันกระแส สร้างยอดความต้องการซื้อสลาก ส่งผลให้ล็อตเตอรี่ขายดิบขายดี ยี่ปั๊วหน้าเดิมร่ำรวยกว่าเก่า ขณะที่สลากแพงยิ่งกว่าเดิม แถมรัฐบาลยังขยายเพดานพิมพ์สลากจาก 37 ล้านฉบับต่องวด เป็น 100 ล้านฉบับต่องวดด้วย 

แม้ล่าสุดกองสลากจะแก้เกมด้วยการหา "กลวิธี" พิมพ์สลากให้รวมชุดยากขึ้น แต่ก็คุมได้แค่ชุดใหญ่ๆ 10-30 ใบ เงินรางวัลหลายสิบล้านบาทเท่านั้น แต่ชุดเล็กยังรวมได้เหมือนเดิม และกลับยิ่งทำให้ "เลขชุด" ที่รวมได้ ขายแพงกว่าเดิม 

ส่วนแนวคิดการ "รวมชุดเอง" ก็ไม่เป็นผล เพราะต้องไม่ลืมว่าการรวมชุดที่จะขายได้จริง ต้องรวมจาก "เลขเด็ด-เลขดัง" ซึ่งรู้กันในวงการ ไม่ใช่รัฐบาลรวมเองล่วงหน้า 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกบอร์ดกองสลาก กล่าวว่า บอร์ดกองสลากอยู่ในช่วงเวลาของการประเมินมาตรการแก้ปัญหารวมชุด เบื้องต้นพบว่า สลากรวมชุด 20-30 ใบไม่มีเหลือแล้ว ขณะที่ชุด 10 ใบถือเป็นสินค้าหายาก ส่วน 5 ใบยังมีอยู่ แต่ไม่มาก และมีราคาแพงขึ้นตามความยากของการรวมเลขชุด ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด 

แต่ที่เห็นได้ชัดและเป็นประโยชน์กับผู้ซื้อสลาก คือ การที่มีสลากใบเดี่ยวกระจายให้ประชาชนเข้าถึงในราคา 80 บาทมากขึ้น ถือเป็นการกระจายความรวย ยอมรับว่ามาตรการนี้ช่วงแรกอาจส่งผลกระทบต่อผู้ค้าบ้าง แต่เชื่อว่าจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องปรับตัวทั้งผู้ค้าปลีกและค้าส่ง 

ขณะเดียวกัน กองสลากขอเวลา 2-3 เดือน เพื่อประเมินผลกระทบของผู้ซื้อและผู้ขาย ระหว่างความต้องการสลากเลขชุดเพื่อได้รางวัลใหญ่ กับการซื้อสลากราคา 80 บาทได้ง่ายขึ้น หากผลกระทบรุนแรง ก็พร้อมจะปรับใหม่อีกครั้ง

logoline