svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

TDRI แนะรัฐทบทวนโครงสร้าง ‘ค่าตั๋ว’ รถไฟฟ้า

14 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ TDRI กล่าวในเวทีเสวนาวิชาการ หาทางออก : ต่อสัญญา BTS 30 ปี ได้หรือเสีย ระบุว่า จากข้อมูลของทีดีอาร์ไอ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศึกษาข้อมูลปัญหาค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของผู้บริโภคพบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเมื่อเทียบกับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคนกรุงเทพมหานคร หากต้องใช้รถไฟฟ้าเพื่อการเดินทาง (BTS MRT และ Airport Link) จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 26-28% หากใช้รถเมล์ ขสมก.ปรับอากาศจะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 15-16% ส่วนรถเมล์ร่วมบริการอยู่ที่ 14% ขณะที่ต่างประเทศ เช่น ปารีสมีค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพียง 3% ลอนดอน 5% โตเกียว 9% และสิงคโปร์ 5% นอกจากปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านราคาค่าบริการแล้ว การมีระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ครอบคลุมและไม่เพียงพอต่อความต้องการของทุกคน ขาดการเข้าถึงได้ของคนทุกกลุ่ม ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ต้องเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะเดินทางมากถึง 43% รถจักรยานยนต์ 26% และเลือกใช้บริการขนส่งมวลชนเพียง 24%

ในภาพรวมของระบบรถไฟฟ้าของกรุงเทพมหานครปัจจุบันเท่าที่มีการสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแนวทางปรับปรุงเรื่องค่ารถไฟฟ้าที่มีอัตราค่อนข้างสูง มองว่าในอนาคตการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ และการเปิดเดินรถช่วงต่อขยายเส้นทางสายเดิมนั้นจะยิ่งส่งผลให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงมากยิ่งขึ้นหากยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งด้านราคาและค่าแรกเข้าเมื่อมีการเดินทางข้ามสายทาง
ปัจจุบันในสัญญาสัมปทานทุกสัญญาไม่ได้มีการกำหนดชัดเจนเรื่องค่าแรกเข้า ส่งผลให้ค่าแรกเข้าของรถไฟฟ้าแต่ละสายไม่เท่ากัน สายสีน้ำเงินอยู่ที่ 16 บาท สายสีชมพู-เหลือง 14 บาท สายสีเขียว 16 บาท สิ่งที่ควรแก้ไขปัญหาคือ การทบทวนสัญญาสัมปทานปัจจุบัน และแนวทางในการทำสัญญาในอนาคตให้สอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน มีเงื่อนไขในสัมปทานเหมือนกัน และมีค่าแรกเข้าที่เท่ากัน เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการแต่ละรายยอมรับเงื่อนไขตรงนี้ ในการเข้ามาเสนอตัวในการดำเนินการ และค่าแรกเข้าต้องมีการยกเว้นเมื่อมีการข้ามระบบ

logoline