svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จบที่รุ่นเรา...ใครจบ - จบอย่างไร?

16 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ม็อบนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีเนื้อหาทั้งภาพและเสียงกระทบถึงสถาบันเบื้องสูง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง หลังจากนั้นก็มีการชุมนุมต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง หลายเวทีก็ยังมีข้อความหมิ่นเหม่ โดยเฉพาะการปราศรัย ขณะที่คณาจารย์และคนทั่วไปก็แบ่งข้างเป็นฝ่ายเชียร์กับฝ่ายต่อต้าน จนสังคมกลับมาขัดแย้งและมีแนวโน้มบานปลายขึ้นอีกครั้งหนึ่ง


ทีมข่าว "เนชั่นทีวี" ได้พูดคุยกับนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงหลายคน ประมวลเป็นข้อสรุปได้ว่า สามารถประเมินทิศทางสถานการณ์ โดยแบ่งเป็นฉากทัศน์ หรือ scenario ได้ 4 รูปแบบ คือ
1. หากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสมในการรับมือกับผู้ชุมนุม เน้นดำเนินคดีเฉพาะตัวการสำคัญในการกระทำที่ร้ายแรงจริงๆ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็รักษาฐานมวลชนที่ยังเทิดทูนสถาบันเอาไว้ได้ จะส่งผลให้ฝ่ายต่อต้านสถาบันเคลื่อนไหวโดยยกระดับใช้ความรุนแรงมากขึ้น คล้ายกับที่ฮ่องกง หรือ "ฮ่องกงโมเดล" ซึ่งหลังจากนั้นจะต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง
2. หากรัฐบาลนิ่งเฉย ไม่ทำอะไรให้ชัดเจน ก็จะถูกกดดันจากการชุมนุมไปเรื่อยๆ ทั้งฝ่ายประชาชนปลดแอก และฝ่ายที่เทิดทูนสถาบันด้วย โดยมีปัจจัยด้านปัญหาเศรษฐกิจที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นตัวเสริมและเร่งสถานการณ์ นายกรัฐมนตรีอาจต้องลาออกหรือยุบสภา แต่ไม่ว่าจะเลือกแนวทางไหน สุดท้ายก็หนีไม่พ้นต้องยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลอยู่ในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะพ่ายแพ้ และฝ่ายที่เคลื่อนไหวขณะนี้จะเข้ามามีอำนาจรัฐ แล้วอาจดำเนินการหลายเรื่องตามที่ประกาศเจตนารมณ์ไว้ จนเกิดความขัดแย้งที่เสี่ยงรุนแรงขึ้น
3. ใช้แนวทางการเจรจา โดยไม่ยุบสภา แต่เสนอตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่แนวทางนี้ไม่น่าจะหยุดยั้งการชุมนุมได้ เพราะแกนนำม็อบไม่ยอมรับรัฐบาลแห่งชาติ และมุ่งไปที่การลดทอนอำนานจสถาบันพระมหากษัตริย์
4. หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะเกิดจากเงื่อนไขใดใน 3 ข้อที่บอกไปแล้ว และมีการยกเลิกมาตราที่คุ้มครองการกระทำต่างๆ ของ คสช. หรือไปแตะต้องมาตราที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มากเกินไป อาจทำให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และอาจนำไปสู่การรัฐประหารอีกรอบได้เช่นกัน

แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลายทางของการเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้ หนีไม่พ้นไปจบที่การเลือกตั้ง โดยมีต่างชาติร่วมกดดัน โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ต้องการครอบงำฝ่ายการเมืองของไทย เพื่อใช้ไทยเป็นฐานในการคานอำนาจกับจีน
ฉะนั้นหากฝ่ายที่เคลื่อนไหวอยู่ได้รับชัยชนะ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสถาบันหลักของชาติ เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการต่างประเทศขนานใหญ่ รวมไปถึงมีโอกาสสูงที่จะสูญเสียดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะกลุ่มนี้สนับสนุนเรื่องการปกครองตนเองอย่างชัดเจน ในระดับ autonomy เช่น เคยเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อปลดล็อกไมให้ประเทศไทยเป็น "รัฐเดี่ยว" เป็นต้น
ที่สำคัญหากประเมินแบบเผินๆ จะพบว่า ฝ่ายที่ได้เปรียบคือฝ่ายการเมืองที่อยู่เบื้องหลังม็อบนักศึกษา เพราะหากการเคลื่อนไหวจุดติด และไปจนสุดทาง ก็จะสามารถสถาปนารูปแบบการปกครองแบบใหม่ขึ้นมาได้ ซึ่งฝ่ายการเมืองทั้งที่เป็นพรรคหรือกลุ่มการเมืองจะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ
แต่หากมีการเจรจากันระหว่างนั้น เช่น ถอยคนละก้าว ตามที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาเสนอ (โดยใช้ความรุนแรงของม็อบเป็นเงื่อนไขขู่และต่อรอง) ก็จะเริ่มกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ จัดทำกติกาประเทศกันใหม่ ซึ่งฝ่ายการเมืองตรงข้ามรัฐบาลก็ได้ประโยชน์อยู่ดี ทั้งแก้ไขกติกาเลือกตั้ง กติกาการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และจะสมประโยชน์มากยิ่งขึ้นหากผลักดันถึงขั้นให้รื้อรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

ประเด็นที่หลายฝ่าย รวมทั้งฝ่ายความมั่นคงกำลังให้ความสนใจอย่างมากก็คือ การประกาศสนับสนุนม็อบนักศึกษาของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 32 คน ทั้งตามดูแลเรื่องสถานที่ ความปลอดภัย และพร้อมไปประกันตัวให้นักศึกษาหากถูกจับ ซึ่งเป็นท่าทีที่สอดคล้องกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาขอโทษม็อบนักศึกษาที่เคยให้ความเห็นเชิงห้ามปรามเรื่องการแสดงออกที่ก้าวล่วงสถาบันพระมหากษัตริย์
ท่าทีของแกนนำและ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าของพรรคตัวจริง หรือ "คนแดนไกล" อาจไฟขียวให้โหนกระแสการเคลื่อนไหวนอกสภาครั้งนี้ด้วยหรือไม่ เพราะประเมินแล้วว่ามีแต่ได้กับได้ (เหมือนกับกลุ่มการเมืองเบื้องหลังม็อบ) โดยอย่างน้อยที่สุดคือได้แก้ไขรัฐธรรมนูญเร็วกว่าที่คาด และได้เลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่ตนเองไม่เสียเปรียบแบบเดิม ส่วนสถานการณ์หากจะไหลไปไกลกว่านั้น ก็คอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์โดยไม่ออกหน้าเหมือนเก่า
ฉากทัศน์การเมืองที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งกลุ่มคนที่รอเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อยู่ข้างหลัง อาจจะเป็นคำตอบของแฮชแท็กดัง "ให้มันจบที่รุ่นเรา" ว่าใครจบ อะไรจบ และจบอยางไร?

logoline