svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ธีรัจชัย"ชี้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือSMEs เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่

30 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ธีรัจชัย" ส.ส.ก้าวไกล กางเงื่อนไข พ.ร.ก.ช่วยเหลือผู้ประกอบการSMEs เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่ ไม่ได้ช่วยเหลือรายย่อย เสี่ยงกระทบประชาชนไม่น้อยกว่า 29 ล้านคน

(30 พฤษภาคม 2563) นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท ว่า กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ แต่การช่วยเหลือไม่ได้ไปถึงผู้ประกอบการเหล่านี้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ หาก SME ล้มไป หมายความว่าจะสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยแรงงานอย่างน้อย 12 ล้านคน จะต้องตกงาน ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่า พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ สามารถเบี่ยงเบนไปเอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ เนื่องจากกำหนดเงื่อนไขให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปล่อยกู้สถาบันทางการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01 

"ธีรัจชัย"ชี้ พ.ร.ก.ช่วยเหลือSMEs เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่

ขณะเดียวกัน ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 โดยยกเว้นดอกเบี้ย 6 เดือน และให้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินเชื้อกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท ทำให้กลุ่ม SME ได้รับประโยชน์หรือเข้าถึงน้อยมาก ผู้ได้รับประโยชน์ตัวจริงคือกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เพราะบริษัทไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่สามารถกู้ได้ทั้งหมด หากมีหนี้สินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อสถาบันการเงิน 1 แห่ง โดยธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยกู้ได้ตามอำเภอใจ เอื้อต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นการสมคบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ ทำไมไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มที่เป็น SME จริงๆนอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเงื่อนไขให้กู้เฉพาะผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์เท่านั้น กรณีที่ไม่มีเงินกู้ ไม่มีหลักประกัน และกรณีเป็นหนี้เสีย ไม่เข้าข่ายได้รับสินเชื่อ SME ทั้งหมด 3 ล้านราย มีสินเชื่อกับธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ เพียง 1.9 ล้านราย แต่อีก 1.1 ล้านราย ไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ และยังให้ใช้หลักเกณฑ์ว่าต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงทำให้เหลือ SME เพียงไม่กี่รายมีโอกาสได้รับสินเชื่อ ยิ่งถ้าเป็นหนี้เสีย ก็จะถูกตัดออกจากระบบตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น มีเพียงกลุ่มทุนขนาดใหญ่และกลุ่มผู้ประกอบการสินเชื่อชั้นดีเท่านั้น ที่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะกลุ่มอื่นถูกตัดขาดหมด ซึ่งธนาคารมีจุดยืนเพื่อกำไรสูงสุด ดังนั้น การจะให้กู้ก็จะต้องเลือกลูกหนี้ชั้นดี เลือกลูกหนี้ที่มีหลักประกัน

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้ชัดเจนว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ได้ช่วยเหลือกลุ่ม SME อย่างแท้จริง แต่เหมือนรัฐบาลจะรู้ว่าจะมีการอภิปรายเรื่องนี้ จนวันอังคารที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเพิ่มช่วยเหลือ SME จัดสรรวงเงินเพิ่มเติม 10,000 ล้านล้านบาท ให้กรณีที่ไม่มีสินเชื่อกับธนาคาร ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีหนี้เสีย สามารถกู้ได้ แต่ก็ยังคงเงื่อนไขเดิมไว้ ซึ่งทำให้เอื้อกลุ่มทุนใหญ่อยู่ดี ทำให้ผู้ประกอบการ SME 3 ล้านราย เสี่ยงล้มไม่ต่ำกว่า 2 ล้านราย คนตกงานไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน มีผลกระทบเป็นลูกโซ่เพราะผลกระทบจากรัฐบาล ที่ยึดถือเพียงมาตรการสาธารณสุข"แต่ลืมมาตรการทางเศรษฐกิจ เกิดการยึดทรัพย์โดยธนาคาร ทำให้นายทุนรายใหญ่มาช้อนซื้อสินทรัพย์ดีๆ ในราคาถูก สร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดเพิ่มขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบให้กลุ่มทุนมีขนาดใหญ่ขึ้น กำหนดราคาสินค้า ผูกขาดตลาดในอนาคต ทำให้คนรวยไม่กี่ตระกูลของประเทศกำหนดอะไรก็ได้ ดังนั้น พ.ร.ก.ฉบับนี้ จึงไม่สามารถช่วยเหลือ SME ได้ มีแต่ซ้ำเติมให้หายไป จึงขอให้รัฐบาลทบทวนใส่ใจประชาชน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการทำลาย SME และทำร้ายประชาชนไม่น้อยกว่า 29 ล้านคน จึงขอให้รัฐบาลทบทวนเรื่องเหล่านี้"นายธีรัจชัยกล่าว

logoline