svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"มดบริรักษ์" หุ่นยนต์คนไทย คิดค้นสู้ภัยโควิด-19

07 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หุ่นยนต์ "มดบริรักษ์" เป็นหนึ่งในผลงานคิดค้นล่าสุดของ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ (Institute of FIeld roBOtics หรือ FIBO) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ใช้ระยะเวลาในการพัฒนาคิดค้นประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการพัฒนา ซึ่งหุ่นยนต์ "มดบริรักษ์" หรือชื่อเดิมที่เรียกกันตอนแรกว่า (FIBO AGAINST COVID-19 : FACO) ได้เริ่มทยอยส่งมอบให้โรงพยาบาลแล้ว เพื่อร่วมในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จากสุดยอดเทคโนโลยี ที่ประเทศอื่นๆ อาทิ จีนและทั่วโลกใช้กันจำนวนมากคือ หุ่นยนต์ ซึ่งในวันนี้ทางประเทศไทยก็มีหุ่นยนต์สู้โควิด-19 ที่ชื่อว่า "มดบริรักษ์" มาช่วยแล้ว

สำหรับที่มาของชื่อ"มดบริรักษ์" นั้น ทางด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตียอธิการบดี มจธ. เปิดเผยว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อ "มดบริรักษ์" ให้กับหุ่นยนต์ "FIBO AGAINST COVID-19 : FACO" ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้และเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่คณะผู้บริหาร อาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่ามจธ. และภาคเอกชนที่ร่วมกันพัฒนาอย่างเต็มที่

"มดบริรักษ์" หุ่นยนต์คนไทย คิดค้นสู้ภัยโควิด-19

โดยทางด้านดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันฟีโบ้ กล่าวอีกว่า หุ่นยนต์ "มดบริรักษ์" นี้เป็นชุดแพลตฟอร์มที่ควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์ สั่งการจากศูนย์ควบคุมเชื่อมต่อผ่าน Wi-Fiและในอนาคตสามารถนำเทคโนโลยี 5G 2600 MHz มาใช้ได้ความสามารถของหุ่นยนต์แต่ละตัวมีหน้าที่ต่างกัน เช่น วัดอุณหภูมิคนไข้ ส่งอาหาร สำรวจจุดต่างๆได้อย่างละเอียด หรือ ช่วยอำนวนความสะดวกของอุปกรณ์ทางการแพทย์ คุณหมอและผู้ป่วยจะสามารถสื่อสารกันได้ผ่านทางวิดีโอคอลล์ สั่งการด้วยเสียงโต้ตอบแบบเรียลไทม์มีหน้าจอและสามารถบันทึกการรักษาและการวินิจฉัยโรค โดยเชื่อมต่อกับระบบกลางของโรงพยาบาลนั้นๆ


"มดบริรักษ์" หุ่นยนต์คนไทย คิดค้นสู้ภัยโควิด-19

ที่สุดด้วยคุณสมบัติตัวกล้องมีความละเอียดสูงมากถึง 20เท่า ทำให้หมอสามารถตรวจคนไข้ได้โดยไม่ต้องใกล้ชิดกับคนไข้ เช่น การตรวจตา ลิ้นเป็นต้น เลี่ยงการใกล้ชิด ด้วยอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขนาดนี้ "มดบริรักษ์" จึงมีต้นทุนการผลิตต่อชุดประมาณ2.5-3ล้านบาท งบประมาณนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคเอกชนและทุนอีกส่วนหนึ่งของฟีโบ้เอง

สำหรับแผนการจัดส่งหุ่นยนต์ส่งมองให้โรงพยาบาลต่างๆ เบื้องต้นมีการมอบให้โรงพยาบาลรามาธิบดีแล้ว และภายในสิ้นเดือนนี้จะส่งมอบให้โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลตำรวจ และโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า คาดการณ์ว่าในช่วงราวๆ ต้นเดือนมิถุนายนจะจัดส่งไปยังโรงพยาบาลที่ จ.ปัตตานี และในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ จะสามารถจัดส่งไปยังโรงพยาบาลในส่วนของภาคตะวันออก อาทิที่ จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา

ดร.ชิต เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลทั่วประเทศแจ้งความต้องการมา40ชุด ซึ่ง "ฟีโบ้" จะมอบพิมพ์เขียว (Engineering Drawing)ให้บริษัทในสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (Thai Automation and Robotics AssociationหรือTARA)ผลิตต่อไป


"มดบริรักษ์" หุ่นยนต์คนไทย คิดค้นสู้ภัยโควิด-19


นอกจาก โรงพยาบาลในไทยที่แจ้งความต้องการใช้หุ่นยนต์แล้ว ยังมีต่างชาติหลายแห่งให้ความสนใจหุ่นยนต์"มดบริรักษ์"และมีการติดต่อเข้ามากันจำนวนมาก แต่ขอชี้แจงว่าทางสถาบันฯ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการผลิตเพื่อขายเอง และไม่ได้ต้องการทำรายได้จากโครงการนี้ เพราะในสถานการณ์ขณะนี้ทุกคนต้องช่วยกัน เมื่อทางสถาบันฯ มีประสบการณ์ในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ก็พร้อมสนับสนุนส่งต่อความรู้เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติอย่างเต็มที่


"มดบริรักษ์" หุ่นยนต์คนไทย คิดค้นสู้ภัยโควิด-19


นี่คืออีกหนึ่งแนวทางในการจัดการหาทางรับมือกับภัยร้า โควิด-19ที่คุกคามชีวิตและทรัพย์สินคนไทยในวันนี้และทั่วทั้งโลก เพื่อหาทางรับมือและลดการสูญเสียให้มากที่สุด"มดบริรักษ์"อีกทางเลือกใหม่ ที่คนไทยคิดค้นเพื่อต้านภัยโควิดและช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์

logoline