svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เพจวงในสาธารณสุขเผยผู้พิพากษาบ้านป่าแหว่ง หนี "ไฟป่า" ไปนอนบ้านเพื่อน

03 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เพจ "Gossipสาสุข" ระบุปัญหาหมอกควันภาคเหนือเข้าขั้นวิกฤต รัฐบาลไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายจัดการมลพิษอย่างจริงจัง สำนักงานควบคุมโรค เขต 1 เชียงใหม่ รายงานว่า มีข้อมูลผู้ที่ต้อง "เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ" แล้วมากกว่า 26,614 ราย บรรดาผู้พิพากษาที่แอบไปอยู่แถวนั้น หอบข้าวหอบของไปเช่าคอนโดนอน-ไปนอนบ้านเพื่อน เป็นที่เรียบร้อย

เมื่อเชียงใหม่เผชิญฝุ่นพิษอันดับ 1 ของโลก
โดยที่รัฐบาลไม่รู้สึกอะไรสะท้อนปัญหา เสียงจากต่างจังหวัดย่อมเป็น "ลูกเมียน้อย" เสมอ

ในขณะที่กรุงเทพฯ กำลังตื่นตระหนกตกใจกับข่าวอาชญากรรม และกระแสการเมืองที่เข้มข้น หลายจังหวัดภาคเหนือตอนบน กำลังเผชิญวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรงที่สุด

ช่วงบ่ายวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา เชียงใหม่ เผชิญกับมลพิษทางอากาศ ด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เป็นอันดับ 1 ของโลก วัดดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ได้สูงถึง 193 หรือแปลว่า "ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ"

ชนะอันดับ 2 และ 3 ที่ประเทศไนจีเรีย และประเทศปากีสถานขาดลอย

โดยที่ทั้งคนกรุงเทพฯ ทั้งรัฐบาลส่วนกลาง ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร เพราะวิกฤต PM2.5 วิกฤตเครื่องฟอกอากาศ-หน้ากากกันฝุ่นราคาแพงผ่านไปแล้ว และขณะนี้เริ่มมีลม "หน้าร้อน" เข้ามา

แต่สถานการณ์ทางภาคเหนือนั้นแตกต่างกัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้มาจากควันพิษในโรงงานอุตสาหกรรม หรือจากไอเสียรถยนต์

แต่มาจากการ "เผา" ล้วนๆ

ยิ่งเข้าสู่ปลายฤดูหนาว ต้นฤดูร้อนเมื่อไหร่ การ "เผา" เพื่อเปลี่ยนพื้นที่การเกษตร และการ "เผา" เพื่อหาของป่า โดยเฉพาะ "ผักหวาน" และ เห็บถอบ (เห็ดเผาะ) นั้น ก็ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน

ชนิดที่ว่า หากขับรถเส้นเชียงใหม่ -แม่ขะจาน- เชียงราย จะเห็นแนวไฟป่าเป็นแถวยาว ยิ่งกว่าไฟถนน!

ยิ่งพื้นที่ปิด เป็นแอ่งกระทะ แบบ จ.เชียงใหม่ แบบ จ.ลำปาง วิกฤตยิ่งหนัก เพราะมลพิษไม่หายไปไหน วิ่งวนไปมาอยู่ในเมือง

ทั้งที่มีคำสั่ง "ห้ามเผา" เด็ดขาด และมีการนำทหารลงพื้นที่เพื่อติดตามการเผาป่าอย่างหนัก แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการเผาได้ ที่น่าตลกไปกว่าก็คือแทบจะไม่พบคนเผาสักคน

แม้แต่ "บ้านพักผู้พิพากษา" หรือ "บ้านป่าแหว่ง" ที่อยู่ตีนดอยสุเทพ ก็หนาวๆ ร้อนๆ เพราะพื้นที่โดยรอบล้วนเป็นป่า เต็มไปด้วยใบไม้แห้ง และเริ่มมี 'Hot Spot' ลามเป็นจุดๆ จนมีข่าวว่าบรรดาผู้พิพากษาที่แอบไปอยู่แถวนั้น หอบข้าวหอบของไปเช่าคอนโดนอน-ไปนอนบ้านเพื่อน เป็นที่เรียบร้อย

ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการปัญหามลพิษในภาคเหนือนั้นวิกฤตไม่แพ้กับการจัดการมลพิษ

ใครที่ว่ารัฐบาลเผด็จการทหารเข้มแข็ง เด็ดขาด จัดการปัญหาได้เร็วนั้น จากวิกฤตหลากหลายเรื่องราวใน 5 ปีมานี้ ก็น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือไม่

ยิ่งปีนี้ เป็นช่วงเลือกตั้ง การบังคับใช้กฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหายิ่งดูจะหย่อนยาน

เสียงลือเสียงเล่าอ้างจากพื้นที่ก็คือ มีคนรู้เห็น "หลับตาข้างหนึ่ง" ไม่ยอมจับกุมตัวการในการเผา เพื่อแลก "คะแนนเสียง" หรือไม่?

ที่น่าอนาถก็คือ การรณรงค์ให้ใส่หน้ากาก หรือการทำงานเชิงรุก เพื่อป้องกันฝุ่นในเชียงใหม่ ก็หละหลวมตามไปด้วย มีเพียงป้าย "ไวนิล" ขอให้ "งดเผา" เท่านั้น

ต่างจากจังหวัดข้างเคียงอย่างเชียงราย ที่มีเวรยามป้องกันไฟป่า หรือมีกลไก "อาสาดับไฟ" ในพื้นที่ โดยทั้งรัฐ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้ไฟป่าขยายเป็นวงกว้าง

ขณะเดียวกัน ที่ต้องตำหนิเพิ่มก็คือ รัฐบาล ที่แทบมองไม่เห็นเลยว่าพื้นที่ภาคเหนือ กำลังเกิดวิกฤตฝุ่นควันพิษ ซ้ำยังปฏิบัติเหมือนกับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่นั้น เป็นเรื่องที่เกิด "เป็นประจำ" อยู่แล้ว และเดี๋ยวก็ผ่านไป

พอถึงสิ้นเดือน เม.ย. ก็ออกมาแถลงข่าวยินดีว่าวิธีแก้ปัญหานั้นได้ผล เพราะวิกฤตฝุ่นควันพิษได้หายไปแล้ว

แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ระหว่างวันที่ 10 - 16 ก.พ. ที่ผ่านมา สำนักงานควบคุมโรค เขต 1 เชียงใหม่ รายงานว่า มีข้อมูลผู้ที่ต้อง "เฝ้าระวังผลกระทบด้านสุขภาพ" แล้วมากกว่า 26,614 ราย หรือ 707.28 ต่อประชากรแสนคน โดยกลุ่มโรคที่ป่วยสูงสุดคือ "กลุ่มโรคทางเดินหายใจ" ตามมาด้วย "โรคหัวใจและหลอดเลือด" "โรคผิวหนัง" และ โรคตาอักเสบ"

นี่แค่ช่วงต้นเดือน ที่วิกฤต PM2.5 ยังไม่หนักมาก แต่ปัจจุบัน ตัวเลขผู้ป่วยน่าจะเพิ่มเกินเท่าตัว...

แล้วคิดดูว่านี่แค่ช่วงเวลาเดียว ในปีเดียว แต่คนเชียงใหม่ คนลำปาง คนแม่ฮ่องสอน ต้องเผชิญกับวิกฤตดังกล่าวต่อเนื่องกันทุกปี...

คำถามก็คือ ในเมื่อมีข้อมูลว่าวิกฤต และข้อมูลก็มาจากส่วนราชการอย่าง "กรมควบคุมมลพิษ" แล้ว รัฐบาลทำอะไรอยู่ ทำไมถึงไม่มีการแก้ปัญหา หรือออกมาตรการแก้ปัญหา ที่ "กระตือรือร้น" เช่นเดียวกับวิกฤตหมอกควันในกรุงเทพและปริมณฑล

คำถามก็คือ ในเมื่อมีโมเดลการแก้ปัญหาจากจังหวัดอื่น จากพื้นที่อื่นในภาคเหนือที่ประสบความสำเร็จแล้ว ทำไมถึงไม่ทำ ให้เป็นวงกว้าง หรือแท้จริงแล้วมีใครขัดขวางอยู่

เมื่อรัฐบาลส่วนกลาง ไม่รู้สึกเดือดร้อนอะไร และเสียงจากต่างจังหวัดดังก้องไปไม่ถึงกรุงเทพ การแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษ จึงถูกโดดเดี่ยว ปล่อยให้ผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นยูนิตหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาไปตามยถากรรม

ในที่สุด เชียงใหม่ และจังหวัดอื่นๆ ก็เป็น "ลูกเมียน้อย" อยู่วันยันค่ำ และในที่สุด คนป่วย - ระบบสาธารณสุข จะไม่สามารถรองรับได้อีกต่อไป เมื่อฝุ่นพิษมากกว่านี้ เรื้อรังกว่านี้

ใครที่ทนไม่ไหว ก็กรุณาย้ายจังหวัดหนีไปเอง...

#ฝุ่นพิษ#หมอกควัน

logoline