svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พาณิชย์เผยเอฟทีเอดันการค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 61 ขยายตัวกว่า 11%

28 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ FTA มีส่วนช่วยเอื้อประโยชน์ ผลักดันการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ปี 2561 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ร้อยละ 11.2 พร้อมแนะผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน เสริมความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ปี 2561 ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ โดยมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 60,201.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 11.2 โดยส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 24,941.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากญี่ปุ่น 35,259.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงเอฟทีเอ ที่ไทยทำกับญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ (1) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยญี่ปุ่นได้ลดภาษีศุลกากรให้ไทย เหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น กุ้งสด กุ้งแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน (ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป ปลาปรุงแต่ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น และไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว เหล็กและผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และ (2) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งญี่ปุ่นได้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยในสินค้า เช่น ผักและผลไม้สดและแห้ง กุ้ง ปู หมึกยักษ์ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง ซอสเครื่องแกง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น และไทยลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่น เหลือร้อยละ 0 แล้วในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว (เชอร์รี่ แอพริคอต พีช) อาหารทะเลกระป๋อง เส้นใยประดิษฐ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนความตกลง JTEPA เพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดระหว่างกัน

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของเอฟทีเอทั้ง 2 ฉบับ ในปี 2561 พบว่า ไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 7,565.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 8,313.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีทั้งสองฉบับไม่มากเท่าที่ควร จึงแนะให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้นำเสนอสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดญี่ปุ่น และอำนวยความสะดวกในการอุปโภคบริโภคของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้านวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่ง เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง แหนบรถยนต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น กุ้งปรุงแต่ง แผ่นแถบทำด้วยอะลูมิเนียมเจือ ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น แผ่นเหล็กรีด เครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ คะตะไลต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น โพลิเมอร์ของโพรพิลีน ฟอยล์อลูมิเนียม น้ำมันดิบ โพลิอะไมด์ ยารักษาหรือป้องกันโรค เป็นต้นหากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติการค้า อัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี สามารถสืบค้นข้อมูลได้ทาง http://www.dtn.go.th/ และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center หมายเลข 0 2507 7555 และทาง e-mail : [email protected]

logoline