svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เทียบสูตรคิด "ส.ส.พึงมี" งานนี้ัมีคนเข้าใจผิด

06 กุมภาพันธ์ 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิ่งที่ "คลิกเจาะข่าว" อธิบายแบบง่ายๆ จริงๆ แล้วมีเขียนไว้ละเอียดในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 คุณผู้ชมดูตามไปพร้อมกันเลย มีอยู่ 5 ข้อ เป็นวิธีคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จากการเลือกตั้งระบบใหม่


อาจจะด้วยเนื้อหาและภาษาที่เข้าใจยาก หรือเป็นแท็กติกกวนน้ำให้ขุ่นก็ไม่ทราบได้ ปรากฏขณะนี้มีบางคน บางพรรค ตั้งประเด็นว่า สูตรคำนวณแบบนี้ไม่แฟร์ โดยตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการคิดสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ทำไมต้องเอาคะแนนของคนชนะแบบแบ่งเขตไปแล้วมารวมด้วย เพราะจะยิ่งทำให้พรรคที่ชนะในระบบเขตเยอะๆ อยู่แล้ว ได้จำนวนปาร์ตี้ลิสต์เยอะตามไปด้วย

สำหรับข้อสังเกตนี้ จะว่าไปแล้วก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะถ้าเราไปดูกระบวนการคิดแบบเต็มๆ การหาสัดส่วนของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะถูกขีดกรอบจากตัวเลข ส.ส.พึงมีของพรรคนั้นๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่คำนวนจากคะแนนทั้งประเทศเที่ยบกับจำนวน ส.ส.ทั้งสภา

ค่อยๆ ไล่เรียงวิธีการคำนวน ระบบจัดสรรปันส่วนผสมกันหน่อย ตัวเลขหลักๆ ที่จะใช้ไปคำนวนมี 4 ตัวด้วยกัน

1.จำนวนบัตรที่มีคนมาใช้สิทธิ์ทั้งประเทศ หักด้วยบัตรเสีย และ no vote จะได้เท่ากับคะแนนของบัตรดี

2.นำตัวเลขบัตรดีมาหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งสภาก็คือ 500 ก็จะได้คะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คน

3.เรามีคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คนแล้ว เราก็ต้องมาดูว่า แต่ละพรรคการเมืองได้คะแนนเท่าไหร่ เพื่อที่จะหาว่าแต่ละพรรคการเมืองนั้นๆ จะได้ ส.ส.กี่คนกันแน่ วิธีการคำนวนคือเอาตัวเลขบัตรดีของทั้งประเทศมาแยกลงไปแต่ละพรรคการเมือง เราจะเรียกกันว่า "คะแนนประเทศ" ดูว่า พรรค A ได้ คะแนนประเทศเท่าไหร่ พรรค B ได้คะแนนประเทศเท่าไหร่ ไล่ไปจนครบทุกพรรค เสร็จแล้วเราก็เอาคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คนที่เราคำนวนเอาไว้ตอนแรกมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคจะได้เข้าไปนั่งในสภา เราเรียกกันว่า "ส.ส.พึงมี" นี่คือคีย์เวิร์ดของระบบจัดสรรปันส่วนผสมเลยทีเดียว

จำนวนของ "ส.ส.พึงมี" ในแต่ละพรรค เมื่อรวมกันแล้วจะได้ 500 พอดี ขั้นตอนตรงนี้จะเห็นว่าตัวเลขที่ใช้ ใช้แต่คะแนนรวมทั้งหมดเท่านั้น เพราะเราอยู่ในขั้นตอนของการหาสัดส่วนที่นั่งของ ส.ส.ทั้งสภา ก็เลยต้องใช้คะแนนประเทศ

ทีนี้เรารู้กันดีว่า ส.ส. ทั้งหมด 500 คน จะมาจาก ส.ส.ที่ชนะแต่ละเขตเลือกตั้ง 350 เขต ก็ 350 คน ที่เหลืออีก 150 คน ถึงจะเป็น ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ วิธีการคำนวนคือให้ดูเป็นรายพรรคไป เอาจำนวน "ส.ส.พึงมี" ของแต่ละพรรค ลบออกด้วยจำนวน ส.ส. เขตที่พรรคนั้นชนะได้ที่ 1 ได้เท่าไหร่ก็คือจำนวนที่นั่งที่เหลือว่างสำหรับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของพรรคนั้น

คราวนี้ยกตัวอย่างแบบเห็นภาพกันหน่อย ลองใส่ตัวเลขเข้าไปบ้าง ซึ่งตัวเลขที่จะใส่ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองหลายคนได้คาดการณ์สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

1.คือจำนวนบัตรดีทั้งประเทศ คาดว่าจะมีประมาณ 35,000,000 ใบ

2.เอามาหารด้วย จำนวน ส.ส. ทั้งสภาคือ 500 ตัวเลขที่ได้คือ 70,000 นี่แหละคือคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1คน

คราวนี้เราต้องมาคิดว่าถ้าเราเป็นพรรคการเมือง "พรรคล่าความจริง" สมมติว่าได้คะแนนบัตรดีจากทุกเขตรวมกัน คือได้คะแนนประเทศ เท่ากับ 700,000 คะแนน เราก็กลับไปเอาตัวเลข 70,000 หรือคะแนนเลือกตั้งต่อ ส.ส. 1 คนมาหาร ผลลัพธ์ที่ได้คือ "พรรคล่าความจริง" จะได้ "ส.ส.พึงมี" หรือ จำนวน ส.ส.ของพรรคที่จะไปนั่งในสภาเท่ากับ 10 คน

ยังไม่จบนะคะ อย่าลืมว่าเรามี ส.ส.ที่เราส่งไปแข่งเลือกตั้งตามเขตอีก สมมติว่า พรรคล่าความจริงชนะ 1 เขต นั่นแปลว่าเราจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อีก 9 คน 9+1 ก็เป็น 10 พอดี

จะเห็นว่า จำนวน "ส.ส.พึงมี" เป็นกรอบที่ครอบเอาไว้ อย่างที่เรายกตัวอย่าง "พรรคล่าความจริง" ต่อให้เราได้ ส.ส.ที่ชนะเขตมามากกว่านี้ เช่น ชนะซัก 5 เขต แต่สุดท้ายพอมารวมกับ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ จำนวนรวมก็ต้องเป็น 10 อยู่ดี ยกเว้นว่า "พรรคล่าความจริง" ชนะ ส.ส.เขต 10/ เขตขึ้นไป ก็จะไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย แต่จะคงจำนวน ส.ส.เขตเอาไว้ตามที่ชนะจริง เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ชนะ แต่ก็ไม่ทิ้งคะแนนผู้แพ้ ตรงตามหลักการของ "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม"

เพราะฉะนั้นการตั้งข้อสังเกตที่ว่าควรจะตัดคะแนนของผู้ชนะเขตออกไปก่อน แล้วค่อยคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงทำไม่ได้เลย เพราะสัดส่วนของ ส.ส.ทั้งสภาต้องเทียบกับคะแนนทั้งประเทศเท่านั้น นี่คือความเป็นธรรมที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคิด ไม่เหมือนแบบเดิม บัตร 2 ใบ ที่เอาผลคะแนนไปนับต่อกัน ทำให้บางพรรคได้จำนวน ส.ส. มากกว่าสัดส่วนคะแนนประเทศที่ตนเองได้ สมมติได้คะแนนประเทศ 15 ล้านคะแนน ควรได้ ส.ส. 200 คน แต่พอนับต่อกัน 2 ระบบ กลับได้ ส.ส. 260 คน แบบนี้เป็นต้น การเลือกตั้งครั้งนี้จึงหมายถึงการทำให้ผลการเลือกตั้ง สะท้อนความเป็นจริงมากที่สุด

logoline