svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ แต่..."ผมพอแล้ว!"

24 กรกฎาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

30 ปีก่อนของวันนี้ หรือตรงกับวันที่ 24 ก.ค.2531 หลายคนอาจจำได้ว่าวันนั้นคือวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 17 ของประเทศไทย จากเพลงรณรงค์เลือกตั้ง ครั้งที่ทำให้ลูกเล็กเด็กแดงได้ยินได้ฟังและอาจจดจำท่อนสร้อยของเพลงได้ดีมาจนถึงทุกวันนี้ คือ


"...24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง24 กรกฎา ชาวประชาต้องไปเลือกตั้ง..."



จะด้วยเหตุผลอันใดก็ตาม ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งปีนั้น จะเป็นปีแรกๆ ที่ประเทศไทยเรามีเพลงรณรงค์เลือกตั้ง และยังคงมีมีจนถึงุทกวันนี้ เพียงแต่อาจไม่มีใครจำได้ดีเท่ากับหนนั้น



อย่างไรก็ดี ความสำคัญของวันเลือกตั้งเมื่อ 30 ปีก่อนนี้มิได้อยู่แค่เพลงรณรงค์ แต่ครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนด เนื่องจากนายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศยุบสภา ในวันที่ 29 เมษายน 2531 เนื่องจากมีการขัดแย้งกันภายในพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลทำให้เสียงในพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มาทางรัฐบาลทั้งหมดและไปค้านรัฐบาลด้วย



การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

สำหรับผลการเลือกตั้ง แม้หลายคนจำได้ดีว่า ที่สุดคนไทยได้ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ยศขณะนั้น)เป็นนายกรัฐมนตรีในปีนั้น แต่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ก่อนหน้านั้นมีเหตุการณ์หลายประการทางการเมืองที่น่าสนใจยิ่ง ซึ่งขอนำมาทบทวนเล่ากันอีกครั้ง



กล่าวคือ หลังเลือกตั้ง ซึ่งผลการเลือกตั้งชี้ว่า พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ "พรรคชาติไทย" แต่หัวหน้าพรรคคือ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ แรกเริ่มเขาไม่ได้แสดงตนว่าจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น



จากข้อมูลหลายแหล่งระบุตรงกันว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531ผลการเลือกตั้งที่ปรากฏว่า พรรคชาติไทย โดย พล.ต. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยเสียง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือ พรรคกิจสังคม มี 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง ซึ่งชัดเจนว่า ไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเสียง "เกินครึ่ง" ของสภาผู้แทนราษฎร ที่มีทั้งหมด 357 เสียง

ยังผลให้ แกนนำของพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งลำดับแรก 5 พรรค คือ พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชาธิปัตย์, พรรครวมไทย และ พรรคประชากรไทย ได้หารือกันถึงการจัดตั้งรัฐบาล

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

ที่สุด ทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่า พล.อ.เปรม มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อ พวกเขาจึงเข้าพบกับ พล.อ.เปรม ถึงบ้านสี่เสาเทเวศร์ ในเวลาค่ำของวันที่ 27 ก.ค.



แต่ พล.อ.เปรมได้ปฏิเสธที่จะดำรงตำแหน่งต่อ โดยว่ากันว่า ท่านได้กล่าวว่า "ผมพอแล้ว" ให้เหตุผลว่า

ระยะเวลารวมทั้งหมด 8 ปี 5 เดือน ที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเพียงพอแล้ว อีกทั้งบ้านเมืองก็มีเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับที่น่าพึงพอใจ พล.ต.ชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียงมากที่สุด จึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ปีเดียวกัน และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ปีเดียวกัน

ที่สุดพล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ จึงได้ประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาล โดยในส่วนของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เมื่อพ้นจากตำแหน่งนายกฯไปแล้ว ก็ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี ในเวลาต่อมาไม่นาน

การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์  แต่..."ผมพอแล้ว!"

ภาพโดยพรชัย กิตติวงศ์สกุล สำนักข่าว AFP

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง หลายคนยังเชื่อกันว่า สาเหตุที่ พล.อ.เปรมไม่ยอมรับเก้าอี้นายกฯ อีก นั่นเพราะช่วงเวลานั้น ซึ่งเรียกได้ว่าหลังอยู่ในอำนาจถึง 8 ปี หลายคนสัมผัสได้ถึงการที่ประชาชนมิได้ให้ความนิยมนายกฯ เปรมเท่ากับที่เคยเป็นมาก่อนหน้านั้น



นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ 99 คน เข้าชื่อถวายฎีกาคัดค้านไม่ให้ พล.อ.เปรม ขึ้นเป็นนายกฯสมัยที่ 4 จนเกิดมีคำว่า "ฎีกา 99" ในช่วงนั้น ซึ่งจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป ซึ่งว่ากันว่า สิ่งนี้เองที่นำไปสู่การตัดสินใจประกาศว่า "ผมพอแล้ว" ต่อสาธารณชนในปี 2531



อนึ่ง หลายคนคงไมลืมเช่นกันว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ได้อยู่ในอำนาจมาจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ก็ถูกคณะทหารที่เรียกตัวเอง"คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ"หรือ คณะ รสช.ใช้กำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล ล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับล้มรัฐสภาไปด้วยในทันที


//////////////

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย

สถาบันพระปกเกล้า

http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=24_กรกฎาคม_พ.ศ._2531

logoline