svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

(คลิปข่าว) "ประจิน" จ่อฟ้อง "ศรีสุวรรณ" ปูดเจรจาซื้อดาวเทียม

07 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มาตามกันต่อกับประเด็นการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่มาทดแทน "ดาวเทียมไทยคม" ที่กำลังจะหมดสัญญาในอีก 3 ปีข้างหน้า เรื่องนี้ลุกลามบานปลายแล้วเมื่อ รองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง เตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับ เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คุณศรีสุวรรณ จรรยา หลังออกมาปูดข้อมูลพาดพิงรองนายกรัฐมนตรี ทำนองว่าดอดไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมในสหรัฐ เพื่อซื้อดาวเทียมเธ-เอ้อ (THEIA) จำนวน 112 ดวง ใช้งบประมาณสูงถึง 9.1 หมื่นล้านบาท โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง


พลอากาศเอก มณฑล สัชฌุกร โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง บอกกับ "ล่าความจริง" ว่า ขณะนี้ พลอากาศเอก ประจิน ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปตรวจสอบ และแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับ นายศรีสุวรรณ ฐานให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อ ป.ป.ช. กรณีเรียกร้องให้ตรวจสอบโครงการจัดหาดาวเทียมดวงใหม่ และมีการให้ข้อมูลพาดพิงถึง พลอากาศเอกประจิน จนสร้างความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงสร้างความสับสนต่อสังคม


สำหรับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ พลอากาศเอก มณฑล อธิบายว่า โครงการดาวเทียม "เธ-เอ้อ" เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมาดำเนินการไปแค่การศึกษาด้านเทคนิค โดยอนุกรรมการนโยบายอวกาศ กับ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สปท. เท่านั้น ยังไม่มีนโยบายและโครงการอื่นใดรองรับ อีกทั้งยังไม่มีการทำข้อตกลงใดๆ กับใครทั้งสิ้น

สทป.ยันไม่ใช่ดาวเทียมจารกรรม - ถูกกว่าเรือดำน้ำ
ด้านความเคลื่อนไหวจาก สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ หรือ สทป. ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ถูกนายศรีสุวรรณกล่าวหาพาดพิงเช่นกัน พลอากาศเอก ปรีชา ประดับมุข ผู้อำนวยการ สทป. ชี้แจงว่า บริษัทเอกชนของสหรัฐยังไม่ได้ขายดาวเทียมให้กับไทย แต่ สทป.ได้ลงนามในความร่วมมือ 2 ฉบับ เรื่องการวิจัยและพัฒนาร่วมกันในการมีดาวเทียม รวมทั้งผลกระทบและประโยชน์ที่จะได้รับ การดำเนินการของ สทป. เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่มีสิ่งใดที่เป็นการผูกมัดว่าจะต้องเลือกบริษัทนี้ในการดำเนินการเรื่องดาวเทียม

ส่วนที่อ้างว่า พลอากาศเอก ในฐานะประธานกิจการอวกาศแห่งชาติ เดินทางไปสหรัฐ และไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตดาวเทียมแล้วนั้น เรื่องนี้ พลอากาศเอกปรีชา บอกว่า พลอากาศเอกประจิน เดินทางไปสหรัฐในภารกิจอื่น แล้วบริษัทดาวเทียมเชิญให้ไปฟังการบรรยาย พลอากาศเอกประจินก็แวะไปฟัง แต่ยังไม่ได้มีการอนุมัติอะไร และเรื่องนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับดาวเทียมจารกรรม อีกทั้งงบประมาณก็ไม่ได้มากถึง 90,000 ล้านบาทตามที่มีการกล่าวอ้าง เพราะจริงๆ ถูกกว่าเรือดำน้ำเสียอีก (ราคาเรือดำน้ำคือ 3 ลำ 36,000 ล้านบาท)

ถอดรหัส "ซื้อ-ไม่ซื้อ" ดาวเทียมใหม่-กลาโหมส่อเจ้าภาพ


นี่คือข้อมูลจากฝั่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งก็เป็น "องค์การมหาชน" ของกระทรวงกลาโหม โดย พลอากาศเอกปรีชา ให้ข้อมูลทิ้งท้ายเกี่ยวกับดาวเทียม "เธเอ้อ" ว่า เป็นดาวเทียมที่มีประสิทธิภาพสูง ส่งสัญญาณในลักษณะเรียลไทม์ หากไทยเข้าเป็นประเทศภาคีพันธมิตร ก็จะมีส่วนได้รับข้อมูลโดยไม่ต้องซื้อ ขณะที่ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศให้ความสนใจ แต่สหรัฐก็เลือกแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคี แต่อยากใช้ข้อมูลจากดาวเทียมก็ต้องเสียเงินซื้อ ดังนั้นการไม่เข้าร่วมจึงเสียเปรียบ

คำพูดลักษณะนี้ คุณผู้ชมคงยังจำได้ เมื่อวาน "บิ๊กป้อม" พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงก็พูดคล้ายๆ กัน คือสหรัฐสนใจร่วมทุนกับไทย เพราะเห็นว่าไทยอยู่ใน position น่าลงทุน (คำว่า position หมายถึงวงโคจรของดาวเทียมจากตำแหน่งของประเทศไทย ถือว่าดีที่สุดในภูมิภาค) "บิ๊กป้อม" บอกว่าแม้เเต่ญี่ปุ่น เกาหลี จะขอเข้ามาร่วมทุน สหรัฐยังไม่ร่วมด้วยเลย ถ้าไทยไม่ร่วม สหรัฐก็ไปประเทศอื่น

ความเป็นมาเรื่องดาวเทียมดวงใหม่ ถอดรหัสจากคำชี้แจงของหลายๆ ฝ่าย ให้คุณผู้ชมได้เข้าใจง่ายแบบนี้ ดูกราฟฟิกไปพร้อมกันเลย


- เริ่มจากมีบริษัทชื่อ THEIA GROUP ของสหรัฐอเมริกา เป็นผู้พัฒนาดาวเทียม "เธ-เอ้อ" ซึ่งไทยให้ความสนใจ เพราะกำลังจะหมดสัญญากับดาวเทียมไทยคม


ๆ- จากนั้นจึงให้ สทป. คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ไปลงนามความร่วมมือ 2 ฉบับเพื่อศึกษาวิจัยร่วมกัน เรียกว่าโครงการ Thailand Satellites Data Information Processing Center


- ฝั่งสหรัฐเองก็ให้ความสนใจร่วมลงทุนกับไทย เพราะมีตำแหน่งของวงโคจรที่ดี (น่าจะหมายถึงวงโคจรของดาวเทียมเก่า ซึ่งเมื่อไทยหมดสัญญา ยิงดาวเทียมใหม่ ก็สามารถใช้วงโคจรเดิมได้)


- การศึกษาวิจัยร่วมกันยังไม่มีการลงนามผูกมัดใดๆ และยังไม่ได้ตกลงซื้อ แต่เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดทำนองว่า ถ้าไม่ร่วมลงทุนกับสหรัฐก็น่าเสียดาย แบบนี้น่าจะเป็นการบอกนัยๆ แล้วว่าซื้อแน่นอน และซื้อจากสหรัฐด้วย


- และหากมีการซื้อดาวเทียมดวงใหม่จริง น่าจะมีกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ เน้นภารกิจความมั่นคง ส่วนภารกิจอื่นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอใช้ ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาบุคลากร เพื่อปรับสถานะจากผู้ใช้ หรือ user เป็น ผู้ควบคุมการปฏิบัติ หรือ operator แทน

logoline