svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวบ้านลาบูโวย "แหล่งท่องเที่ยว Unseen" ถูกทิ้งร้าง

30 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นร้องเรียนของ "ล่าความจริง" วันนี้ มาจากจังหวัดยะลา ใต้สุดแดนสยาม เป็นโครงการที่หน่วยงานในพื้นที่พยายามผลักดันให้ "เหมืองลาบู" ซึ่งอยู่ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ระดับ Unseen "โฮมสเตย์ ทะเลหมอก" กันเลยทีเดียว แต่ชาวบ้านเขาร้องเรียนว่าหลังจากมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์อย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 8 เดือนก่อน วันนี้สภาพพื้นที่ถูกทิ้งร้าง มีแต่กองวัสดุกับกองขยะ ยังไม่มีวี่แววเป็น "Unseen ลาบู" เลยแม้แต่น้อยค่ะ

นี่คือภาพเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งมีกิจกรรมที่ชื่อว่า "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา งานวันนั้นต้องบอกว่ายิ่งใหญ่จริงๆ เพราะมีประธานคือท่านแม่ทัพภาคที่ 4 พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช นำทีมปั่นจักรยานจากที่ว่าการอำเภอยะหา เพื่อพิชิตเหมืองลาบู ระยะทาง 28 กิโลเมตร โดยมีบุคคลสำคัญในจังหวัด ทั้งผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด และผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน ไปร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง มีการเปิดเวทีการแสดงของศิลปินนักร้องด้วย

สาเหตุที่เลือก "เหมืองลาบู" ก็เพราะเป็นโครงการของท่านแม่ทัพปิยวัฒน์ ที่ต้องการฟื้น "เหมืองเก่า" ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดย "เหมืองลาบู" ตั้งอยู่ในอำเภอยะหา เคยเป็นเหมืองแร่ดีบุก คำว่า "ลาบู" แปลว่า "ฟักทอง" เพิ่งเลิกทำเหมืองไปเมื่อปี 2535 จากนั้นพื้นที่ก็สุขสงบ ไม่เคยเกิดเหตุรุนแรง ทั้งยังมีภูเขา มีน้ำตก มีป่าเสม็ดแดง และร่องรอยการทำเหมือง จึงเหมาะกับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สร้าง "โฮมสเตย์ ทะเลหมอก" เป้าหมายก็คือ สร้างงาน สร้างรายได้ให้คนพื้นที่
นี่คือภาพจุดชมวิว "ทะเลหมอกลาบู" จะเห็นได้ว่าวันนั้น ท่านแม่ทัพไปถ่ายภาพตรงจุดชมวิวนี้กับวีไอพีในจังหวัดอย่างคึกคัก แต่งชุดนักปั่นกันเลยทีเดียว
ส่วนนี่คือภาพวันนี้ค่ะ ผ่านมาแค่ 8 เดือนเศษ คือต้องอธิบายนิดหนึ่งว่า พื้นที่ที่เขาปรับเป็นจุดชมวิวทะเลหมอก มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นลานจอดรถ ส่วนที่สองเป็นจุดชมทะเลหมอก โดยทั้ง 2 ส่วนนี้มีเนื้อที่รวมๆ ประมาณ 1 ไร่เศษ ใกล้ๆ กับลานจอดรถมีห้องน้ำ 2 ห้อง แต่อยู่ในสภาพชำรุด ไม่มีประตู บริเวณโดยรอบมีร่องรอยการตัดต้นไม้ และทิ้งขยะประเภทขวดน้ำพลาสติกกับแผ่นไม้ที่เคยใช้ปรับพื้นที่กองไว้เป็นจำนวนมาก

ส่วนบริเวณที่เป็นจุดชมวิว แม้จะยังมีป้ายบอกทาง "ลาบู In love" อยู่ รวมทั้งป้าย "ทะเลหมอกลาบู" แต่ก็อยู่ในสภาพร้าง สีตก หญ้าขึ้นรถ วันที่ทีมข่าวไปถ่ายภาพ ไม่พบว่ามีนักท่องเที่ยวเลย และหากไม่มีป้ายบอกเอาไว้ก็จะไม่รู้เลยว่าเป็นจุดชมวิว
ทีมล่าความจริงไปสัมภาษณ์คนในพื้นที่ เขาบอกตรงกันค่ะว่า การเปิดจุดชมวิวทะเลหมอกที่เหมืองลาบูนับเป็นโครงการที่ดี แต่ปัญหาคือการดูแลและพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น แล้วอย่างนี้จะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาได้อย่างไร
ทีมล่าความจริงยังตรวจสอบพบว่า โครงการ "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" มีการใช้งบประมาณไปไม่น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นงบจากเทศบาลตำบลปะแต และอำเภอยะหา เช่น

- การจัดจ้างทำวารสารประชาสัมพันธ์ 400,000 บาท- การปรับปรุงภูมิทัศน์และปรับพื้นที่ 142,000 บาท- จัดจ้างทำป้ายไวนิล 21,375 บาท- จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ 8,550 บาท- งานป้ายประชาสัมพันธ์ ป้ายบอกสถานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเหมืองลาบู 98,000 บาท- จัดจ้างประกอบอาหารว่าง เครื่องดื่ม และน้ำดื่ม 22,500 บาท- เช่าเต็นท์ เก้าอี้ เครื่องเสียง พร้อมเวที และตกแต่ง 108,000 บาท

เฉพาะตัวเลขเท่าที่ตรวจสอบได้ เป็นเงิน 800,425 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ในการจัดงานพิธีเปิดที่แม่ทัพภาคที่ 4 เดินทางไปเป็นประธาน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เพียงวันเดียว
แม้จะลงพื้นที่จริงแล้ว แต่ล่าความจริงก็ตรวจสอบข้อมูลทุกด้าน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ เราตรวจสอบไปที่ คุณชัยชนะ กฤตยานาถ นายอำเภอยะหา ท่านก็ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า โครงการจุดชมทะเลหมอกลาบู เป็นโครงการ "ประชารัฐ" ของอำเภอยะหา โดยหน่วยงานทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเทียว ที่ผ่านมาก็มีคนไปเที่ยวอยู่ แม้จะไม่เยอะเหมือนช่วงแรกๆ ที่เปิดโครงการและทำกิจกรรมก็ตาม ขณะนี้กำลังให้ทางเทศบาลตำบลปะแตทำเรื่องขอใช้พื้นที่จากกระทรวงทรัพยาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบการพิจารณาอนุญาตการใช้พื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ

นายอำเภอยะหายังบอกว่า เหมืองลาบูไม่ใช่ว่ามีแค่จุดชมทะเลหมอกอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายจุดที่น่าสนใจ และสามารถท่องเที่ยวได้ ทั้งน้ำตก บ้านโรมันโบราณสมัยเจ้าของเหมืองเก่า รวมทั้งป่าเสม็ดแดง
นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ทางเทศบาลตำบลปะแต มีโครงการพัฒนาเหมืองลาบูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างชัดเจน และจะเดินหน้าต่อไป ไม่ได้ทิ้งร้าง แต่ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติลาบู-ถ้ำทะลุ ซึ่งต้องรอขออนุญาตจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก่อน โดยคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี

ส่วนกิจกรรม "เบิกฟ้าลาบู สู่อาเซียน Unseen Labu 2017" ที่จัดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ โดยมีแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นประธานนั้น เป็นเพียงกิจกรรมประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวทราบว่า เหมืองลาบูกำลังมีโครงการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่น่าสนใจระดับ Unseen และงบประมาณที่ใช้ก็ไม่ได้มากมาย เมื่อเทียบกับการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างให้คนนอกพื้นที่ได้รับรู้

ด้าน พลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงเรื่องนี้กับ "ล่าความจริง" ว่า โครงการพัฒนาเหมืองลาบูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ยังมีการดำเนินการของทางองค์กรท้องถิ่นอยู่ และมีนักท่องเที่ยวไปเยือนทุกวัน โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนการทำเหมืองแร่ ขณะนี้มี 8 บริษัทต่างชาติขอประทานบัตร มีบริษัทหนึ่งที่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี ล่าสุดผ่านไปแล้ว 3 ปี เหลืออีก 2 ปี ขณะนี้อยู่ในช่วงสำรวจความคุ้มค่า
แม้จะมีแผนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวจริงๆ แต่ภาพจากพื้นที่ก็ฟ้องอยู่ว่า สภาพในปัจจุบันค่อนข้างรกร้าง ก็ต้องรอดูว่าในเบื้องต้นหน่วยงานที่รับผิดชอบจะเข้าไปแก้ปัญหาอย่างไร เพราะชาวบ้านในพื้นที่เองก็บ่นว่าเหมือนถูกรัฐปล่อยทิ้ง ไม่เหลียวแล

logoline