svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ

28 ตุลาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ม.อุบล-รุกช่วยเด็ก เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ ส่งสุข 5 องค์ประกอบ เหตุดัชนีความก้าวหน้าคนปี 2558 ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ ล้าหลังมากที่สุด

คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง เพื่อสนับสนุนให้เกิดโรงเรียนสุขภาวะที่มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ผู้เรียนเป็นสุข ครอบครัวเป็นสุข โรงเรียนเป็นสุข ชุมชนเป็นสุข และสภาพแวดล้อมเป็นสุข สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพของครูและผู้บริหารโรงเรียน โดยมุ่งพัฒนาครูที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง ใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงรุกเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนให้กลายเป็นผู้เรียนที่เป็นสุข และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนและพัฒนาหลักสูตรตลอดจนคู่มือส่งเสริมการบริหารงานและจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนสุขภาวะ

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ


ดร.ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า จากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2558 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ในภาพรวมระดับภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความก้าวหน้าด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมากที่สุด แต่ด้านการศึกษากลับล้าหลังมากกว่าทุกภาค เมื่อเปรียบเทียบความก้าวหน้าของคนด้านการศึกษาเฉพาะจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งหมด 20 จังหวัด โดยใช้ดัชนีด้านการศึกษาเป็นเกณฑ์ในการประเมิน พบว่า 5 จังหวัดที่มีความล้าหลังด้านการศึกษามากที่สุดคือ หนองบัวลำภู บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ และร้อยเอ็ด ส่วนด้านสุขภาพ 5 จังหวัดที่มีความล้าหลังด้านสุขภาพมากที่สุดคือ เลย ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ข้อมูลเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าภาคอีสานโดยเฉพาะในเขตอีสานตอนล่างยังต้องการได้รับการพัฒนาทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ


ดร.ปิ่นวดี กล่าวต่อว่า จากข้อมูลดังกล่าว มหาวิทยาลัยอุบลฯ ในบทบาทของมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เล็งเห็นความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนภาคอีสาน จึงได้จัดทำโครงการการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายโรงเรียนสุขภาวะภาคอีสานตอนล่าง ซึ่งจะมีชื่อเรียกว่าโรงเรียนเฮ็ดดี มีสุข (HD School) โดยมีสถานศึกษาในจังหวัด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เข้าร่วมจำนวน49 โรงเรียน โดยมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สนับสนุนโรงเรียนและเครือข่าย ให้มีการบริหารจัดการและจัดกระบวนการ กิจกรรมการเรียนรู้ในโรงเรียนที่ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดการพัฒนา โดยบูรณาการแนวทางเรียนรู้ โดยใช้โครงการเป็นฐาน ทั้งการลดพฤติกรรมเสี่ยงและเพิ่มพฤติกรรมสุขภาพ ทั้งด้านกาย จิต สังคม และสติปัญญา เพื่อสร้างโรงเรียนสุขภาวะที่มีองค์ประกอบครบทั้ง 5 ด้าน

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ


นายสุจินต์ หล้าคำ ผู้อำนวยการโรงเรียนโนนปูนวิทยาคม อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า โรงเรียนได้ทำโครงการชุมชนเฮ็ดดี นำปุ๋ยอินทรีย์สู่วิถีพอเพียง เพราะชุมชนตำบลโนนปูน ประกอบอาชีพการเกษตรเกือบ 100% โดยมีการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นหลักในการทำการเกษตร ก่อให้เกิดความไม่สมดุลในแร่ธาตุและกายภาพของคนในชุมชน เกิดภาวะสารพิษตกค้างในเลือดทำให้เกิดโรคต่างๆ  และยังเกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร เมื่อผู้ปกครองและนักเรียนบริโภคเข้าไปก็ทำให้ร่างกายได้รับสารพิษเข้าไปด้วย เกิดการสะสมในร่างกาย มีภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง จากประเด็นปัญหาดังกล่าวดังกล่าวครูและนักเรียนจะสามารถจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของ PBL คือใช้โครงการเป็นฐาน จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ในเรื่องของการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ขึ้น  โดยทดลองใช้ในโรงเรียนก่อน และต่อยอดสู่ชุมชน ซึ่งโครงการนี้จะทำให้นักเรียน เยาวชนและชุมชนเกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงผลกระทบในการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีจำนวนมาก ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ

"เมื่อโรงเรียนเป็นโรงเรียนของท้องถิ่น จึงต้องให้การสนับสนุนทั้งเชิงวิชาการและการช่วยเหลือแนะนำ ดังนั้น สิ่งแรกอยากให้เด็กได้กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่แปลกแยกจากชุมชน แต่สามารถนำความรู้ แนวคิด กระบวนการขั้นตอนไปใช้ในชีวิตที่ไปแก้ปัญหาครอบครัว ชุมชน หมู่บ้านให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด คือแก่นของชีวิตทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อเด็กจบการศึกษาออกไปเป็นประชาชนซึ่งก็คือหน่วยหนึ่งของชุมชน อีกทั้ง โครงการที่เราทำนั้น นำมาใช้ในช่วงลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ทำให้เห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน มีปัญหาก็เปิดใจปรึกษาหารือทุกเรื่อง ได้เห็นบรรยากาศความสุข เด็กนักเรียนเราไม่ได้เรียนเก่งทางวิชาการ แต่เด็กเรามีความขยัน มุ่งมั่น อดทน จึงได้นำความรู้ตรงนี้ไปใช้ในเรื่องของการเรียน กาทำงาน อาชีพ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเป้าหมายสำคัญต่อมุมมองการใช้ชีวิตของเด็ก" นายสุจินต์ กล่าว

ด้านนางปิยวรรณ พาหาทรัพย์อนันต์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนชุมชนบ้านศรีไค (ศรีวัฒนาวิทยาคาร) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า โรงเรียนทำโครงการอุ่นไอรักจากการอ่าน สายใยสื่อสารผ่านสามวัย เพราะการอ่านเป็นวัฒนธรรมในการแสวงหาความรู้ของมนุษย์เพราะเป็นทักษะพื้นฐานในการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน ให้ครอบครัวและชุมชนเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้เป็นคนที่มีนิสัยรักการอ่าน การคิดและการเขียน ตั้งแต่วัยเด็กโดยความร่วมมือของผู้ใหญ่และผู้สูงวัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาทักษะการอ่านแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมสัมพันธภาพที่ดีของบุคคลในครอบครัว  ชุมชนอย่างสร้างสรรค์ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดจินตนาการและแนวคิดใหม่ๆ ส่วนผู้ใหญ่และผู้สูงวัยก็ได้เห็นคุณค่าและความสำคัญของตนเองในการส่งเสริมความสามารถของบุตรหลานให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ

เยาวชนอีสาน แก้ปัญหาการศึกษา-สุขภาพ

"เด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มักเป็นเด็กด้อยโอกาส เด็กพิเศษที่จะถูกทอดทิ้งเป็นเด็กห้องบ้วยใครก็ไม่อยากได้ จึงตั้งปณิธานว่าจะทำความดีถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะฉวยทุกโอกาสช่วยเรื่องการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ทั้งนี้ ปัญหาไม่ได้แก้ไขเฉพาะในห้องเรียน แต่จะต้องแก้ไขทั้งองค์รวมตั้งแต่ในบ้าน วิถีชีวิตปกติ สิ่งแวดล้อม ถึงจะสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงผู้สูงอยุ ปราชญ์ชาวบ้าน ครอบครัวบ้านใกล้เรือนเคียง กิจกรรมจึงเริ่มโดยเด็กนำหนังสือนิทานจากโรงเรียนไปให้อ่านให้คนทุกช่วงวัยฟัง ทั้งในบ้านและในชุมชน ในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้เด็กไปคุยไปเล่นกับผู้ใหญ่แลกเปลี่ยนถามไถ่ทุกข์สุข สิ่งที่ได้กลับมาคือวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ครูเองก็รู้ไปพร้อมกับเด็กด้วย ดังนั้น ตัวโครงการจะเน้นเรื่องการอ่าน ผ่านการคิด สู่การเขียน เพื่อการเรียนอย่างมีความสุข และมีจุดเด่นในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับครอบครัว เนื่องจากเด็กของเราไม่ได้อยู่กับพ่อแม่สูงถึงร้อยละ 90 โดยเทคนิคที่นำมาใช้และเกิดความสำเร็จคือครูสู้ด้วยใจ ส่งผลให้โรงเรียนได้รางวัลเรื่องการอ่าน ระดับชั้น ป.1อันดับ 1 ของเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานี เขต 4" นางปิยวรรณ กล่าว

logoline