svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ร้อนตับแตก คือร้อนระดับกี่องศา?

11 เมษายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ตั้งเกณฑ์ อากาศร้อน ไว้สั้นๆ ว่า 1. อากาศร้อน (Hot) อุณหภูมิตั้งแต่ 35.0 39.9 องศาเซลเซียส 2. อากาศร้อนจัด (Very Hot) อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 องศาเซลเซียส ขึ้นไป

ส่วนคำว่า "ร้อนตับแตก" ไม่มีในนิยามของ กรมอุตุนิยมวิทยา แต่เป็นนิยมของคนโบราณ และระดับความร้อนจน "ตับแตก" น่าจะเป็นระดับความร้อนขนาด อากาศร้อนจัด (Very Hot) อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 องศาเซลเซียส ขึ้นไป ตามเกณฑ์ของ กรมอุตุฯ เพราะ..ความหมายของ ร้อนตับแตก เป็นนิยมของคนโบราณ ไม่ใช่ร้อนจนอวัยวะ "ตับ" แตกออกมา ตามที่มีการโฆษณาฟิล์มกันแสงของรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง แต่ "ร้อนตับแตก" หมายถึง "ใบจาก" ที่คนสมัยก่อนใช้มุงหลังคาบ้าน เมื่อเวลาตอนที่โดนแดด จัดๆ ร้อนๆ ใบจากที่ถูกเย็บเรียงติดๆ กัน ที่เรียกว่าตับ..จะแตก หรือโก่งตัวเบียดกันระหว่างใบในตับ จนเกิดเสียงดังเปรี๊ยๆ ให้ได้ยิน จนคนสมัยโบราณ เอามาเป็นการบ่งชี้ถึงสภาพอากาศที่ร้อนจัด
คือถ้าวันไหนได้ยินเสียงตับจากที่มุงหลังคาบ้าน "แตก" เมื่อนั้น รู้เลยว่าวันนี้ ร้อนทะลุองศาเดือด หรือ ร้อนจน "ตับแตก"!
ดังนั้น ร้อนตับแตก จะร้อนอยู่ในระดับใด? ในสมัยนี้ "เนชั่นทีวี" อาจขออนุมานจากข้อเท็จจริง, อนุมานจากข้อมูลที่สังเกตุได้ และอนุมานจากตัวอย่างทางสถิติโบราณ ว่า "ร้อนตับแตก" น่าจะร้อนระดับ 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป หรือ Very Hot!

อนึ่ง..ประเทศไทยโดยทั่วๆ ไป แบ่งออกได้เป็น 3 ฤดู คือ
1. ฤดูร้อน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม
2. ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม
3. ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์

ฤดูร้อนเริ่มต้นประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และเป็นระยะที่ขั้วโลกเหนือหันเข้าหาดวงอาทิตย์ โดยเฉพาะเดือนเมษายนบริเวณประเทศไทย มีดวงอาทิตย์อยู่เกือบตรงศรีษะในเวลาเที่ยงวัน ทำให้ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่ สภาวะอากาศจึงร้อนอบอ้าวทั่วไป

ในฤดูร้อนนี้แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง แต่บางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็น กับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายได้ พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้มักเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าพายุฤดูร้อน

ลักษณะอากาศในฤดูร้อนพิจารณาจากอุณหภูมิสูงสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
- อากาศร้อน อุณหภูมิระหว่าง 35.0 ซ. - 39.9 ซ.
- อากาศร้อนจัด อุณหภูมิตั้งแต่ 40.0 ซ. ขึ้นไป
ส่วนฤดูอื่นอีก 2 ฤดู ฤดูฝน และฤดูหนาว ที่ผ่านมาๆ จะหนักไปทางร้อน มากกว่าฝนหรือหนาว
ฤดูฝน เริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย ทำให้มีฝนชุกทั่วไป ร่องความกดอากาศต่ำนี้ปกติ จะพาดผ่านภาคใต้ในระยะต้นเดือนพฤษภาคม แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายน จะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง และเรียกว่าฝนทิ้งช่วง ซึ่งอาจนานประมาณ 1 - 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรง และมีฝนน้อยนานนับเดือน ในเดือนกรกฎาคมปกติร่องความกดอากาศต่ำ จะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฏาคมเป็นต้นไป จนกระทั่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เว้นแต่ภาคใต้ยังคงมีฝนชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และมักมีฝนหนักถึงหนักมากจนก่อให้เกิดอุทกภัย โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งจะมีปริมาณฝนมากกว่าภาคใต้ฝั่งตะวันตก อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นฤดูฝนอาจจะช้าหรือเร็วกว่ากำหนดได้ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์
เกณฑ์การพิจารณาปริมาณฝนในระยะเวลา 24 ชั่วโมงของแต่ละวันตั้งแต่เวลา 07.00 น. ของวันหนึ่งถึงเวลา 07.00 น.ของวันรุ่งขึ้นตามลักษณะของฝนที่ตกในประเทศที่อยู่ในเขตร้อนย่านมรสุมมีดังนี้
- ฝนวัดจำนวนไม่ได้ ปริมาณฝนน้อยกว่า 0.1 มิลลิเมตร- ฝนเล็กน้อย ปริมาณฝนระหว่าง 0.1 - 10.0 มิลลิเมตร- ฝนปานกลาง ปริมาณฝนระหว่าง 10.1 - 35.0 มิลลิเมตร- ฝนหนัก ปริมาณฝนระหว่าง 35.1 - 90.0 มิลลิเมตร- ฝนหนักมาก ปริมาณฝนตั้งแต่ 90.1 มิลลิเมตรขึ้นไป
ส่วน ฤดูหนาว เริ่มต้นประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดปกคลุมประเทศไทยตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนาน 1-2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวน ไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็น หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะบริเวณภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออกลงไปซึ่งจะหมดฝน และเริ่มมีอากาศเย็นช้ากว่าภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะอากาศในฤดูหนาวพิจารณาจากอุณหภูมิต่ำสุดของแต่ละวัน โดยมีเกณฑ์การพิจารณาดังนี้
- อากาศหนาวจัด อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 ซ.- อากาศหนาว อุณหภูมิระหว่าง 8.0 ซ. - 15.9 ซ.- อากาศเย็น อุณหภูมิระหว่าง 16.0 ซ. - 22.9 ซ.
ขอบคุณข้อมูล www.tmd.go.th

logoline