svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

มั่นใจ "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" พ้นบัญชีอันตราย

30 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเทศไทย มั่นใจผลการประเมินการแก้ปัญหาลักลอบตัด"ไม้พะยูง"ในเขตป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนธ.ค.2559 จะช่วยให้พ้นการถูกขึ้นบัญชีมรดกโลกในภาวะอันตราย

วันนี้(30มี.ค.2560) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพในการประชุมระหว่างประเทศเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงผิดกฎหมายครั้งที่ 3 โดยมีตัวแทนจาก 4 ประเทศคือ จีน กัมพูชา ลาว และเวียดนาม จำนวน 15 คน และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิฟรีแลนด์ FAO และทาง IUCN
พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส. บอกว่าที่ผ่านมาคณะกรรมการมรดกโลก ขอให้ไทยเร่งแก้ปัญหาการลักลอบตัดและค้าไม้พะยูงที่ผิดกฎหมายในพื้นที่มรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่ โดยตลอด 2-3 ปีกรมอุทยานฯร่วมกับหลายหน่วยงานสนธิกำลังปราบปรามและหยุดการค้าไม้พะยูงผิดกฎหมายในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งการลักลอบตัด การค้าไม้ข้ามแดน
เชื่อมั่นว่าจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญมาประเมินการแก้ปัญหาไม้พะยูงในกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ที่เข้ามาประเมินในเดือนธ.ค.2559 และทำรายงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ชี้ว่าประเทศไทยมีความพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจังและมีความก้าวหน้า จึงไม่ควรให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย และให้เวลาไทยดำเนินการตามแผนปฎิบัติการแก้ไขปัญหาไม้พะยูงให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 แล้วจึงทบทวนผลการดำเนินงานอีกครั้ง
จากนั้นค่อยทบทวนผลการดำเนินงานอีกครั้ง เพราะประชาคมให้ความสนใจเรื่องไม้พะยูง มั่นใจว่า ข้อมูลดังกล่าวเพียงพอและสมบูรณ์ถึงร้อยละ 80-90 จะช่วยให้กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ไม่ถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในภาวะอันตราย พร้อมกันนี้ จะเสนอข้อมูลใหม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกหลังไทยพบ เสือโคร่งดำรงชีวิตและขยายพันธุ์ในธรรมชาติพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ถึง 18 ตัว แสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่า คาดการณ์ว่า หลังสร้างคอริดอร์เส้นทางเดินสัตว์ข้ามถนนเพื่อความปลอดภัย ถนนสาย 304 เส้นทางทับลาน-เขาใหญ่แล้วเสร็จ จะเป็นเส้นทางเดินและเคลื่อนย้ายของเสือโคร่งจากทับลานไปยังเขาใหญ่ด้วย ซึ่งจะเสนอความคืบหน้านี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ระหว่างวันที่ 1-14 กรกฎาคมนี้ ที่ ประเทศโปแลนด์
จากข้อมูลของที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช รายงานผลการจับกุมคดีลักลอบตัดไม้พะยูงระหว่างปี 2552-2559 ภาพรวมมีคดี 8,294 คดี ผู้กระทำผิด 5,965 คน ตรวจยึดไม้พะยูงประเภทพท่อน/แผ่น/เหลี่ยม 111,806 ชิ้น ปริมาตรไม้รวม 5,701 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 2,850 ล้านบาท
สำหรับการประชุมวันนี้ แต่ละประเทศ จะนำเสนอผลการแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูงผิดกฎหมายที่เกิดขึ้นในประเทศ เพื่อกำหนดมาตรการ และวางแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน การทบทวนกฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

logoline