svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ดร.สมเกียรติ (ทีดีอาร์ไอ) แนะผู้บริหาร Thai PBS ควรทบทวนซื้อตราสารหนี้ CPF!

14 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ออกมาชี้แจงผ่านเฟสบุ๊ค Somkiat Tangkitvanich กรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ซื้อตราสารหนี้ของ CPF โดยระบุว่า...

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่อง Thai PBS ซื้อตราสารหนี้ (หุ้นกู้) ของ CPF นักข่าวหลายคนติดต่อสัมภาษณ์ผม ผมได้ให้สัมภาษณ์ไปเพียงบางแห่งเท่านั้น เพราะไม่สามารถตอบคำถามต่างๆ ทีละครั้งได้หมด จึงขอแสดงความเห็นในบางประเด็นผ่าน Facebook ไปทีเดียวครับ
ประเด็นแรก มีคำถามว่า Thai PBS ในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่? 
มาตรา 11 ของกฎหมาย Thai PBS เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของ Thai PBS มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งคือดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การที่ Thai PBS ไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด
ในต่างประเทศ เป็นเรื่องปรกติที่องค์กรสาธารณะ ซึ่งรวมถึงองค์กรสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ทั้งมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยต่างๆ เอาทรัพย์สินของตนไปลงทุนในตลาดทุน (ซื้อหุ้น ตราสารหนี้และอื่นๆ) เพราะหากจะให้เอาเงินไปฝากธนาคารอย่างเดียวก็จะได้ผลตอบแทนต่ำมาก ไม่เพียงพอกับการนำไปสนับสนุนกิจกรรมขององค์กร โดยเฉพาะในยุคที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากเช่นในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเยลในสหรัฐ เป็นตัวอย่างของหน่วยงานที่มีผลตอบแทนสูงเกินกว่า 10% ต่อปีต่อเนื่องหลายปี จากการลงทุนอย่างฉลาดในหุ้นทั้งในและต่างประเทศ ตราสารหนี้ อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจร่วมลงทุน (venture capital)
ในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่า องค์กรสาธารณะไม่สามารถ หรือไม่ควรลงทุนใดๆ นอกจากฝากเงินกับธนาคาร มิฉะนั้นจะเป็นการแสวงหาผลกำไร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์องค์กร ผลก็คือองค์กรต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิจำนวนมากมีปัญหาการขยายกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของตน เพราะขาดเงินทุน ในความเป็นจริง เส้นแบ่งของหน่วยงานแสวงหาผลกำไร และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรคือ มีการนำส่วนของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายมาแบ่งกันในรูปเงินปันผลหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารายได้มาจากไหน
ประเด็นที่สอง มีคำถามว่า การไปลงทุนตราสารหนี้ของ CPF จะทำให้ Thai PBS เสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับ CPF หรือไม่?
การลงทุนตราสารหนี้ของ CPF ทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ของ CPF ไม่ใช่เป็น "ผู้ถือหุ้น" ดังที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้น ความแตกต่างก็คือ เจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนในอัตราแน่นอนคือ ดอกเบี้ย โดยไม่ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเหมือนการได้เงินปันผลของผู้ถือหุ้น ในแง่มุมดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่แตกต่างจากการที่ Thai PBS เอาเงินไปฝากธนาคารสักแห่ง เพราะมีผลทำให้ Thai PBS มีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ของธนาคารนั้นเช่นกัน และไม่น่าจะทำให้ Thai PBS ทำข่าวที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้ 
ผมไม่คิดว่า Thai PBS ในฐานะ "เจ้าหนี้" จะต้องไปเกรงอกเกรงใจ CPF ซึ่งเป็น "ลูกหนี้" ในการทำข่าวแต่อย่างใด ถ้าจะมีความเสี่ยง ก็ไม่ใช่ความเสี่ยงในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนของสื่อ แต่เป็นความเสี่ยงทางการเงินกรณีที่ลูกหนี้ไม่ใช้เงินคืน ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นในกรณีนี้เพราะเครือซีพีมีฐานะการเงินมั่นคง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนของ Thai PBS ในตราสารหนี้ของ CPF จะไม่มีประเด็นคำถามเลย เพราะการไปลงทุนที่เฉพาะเจาะจงในกิจการใดนั้น นอกจากจะมีมิติด้านการเงินแล้ว ยังมีมิติในเชิง "สัญลักษณ์" ด้วย โดยการลงทุนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการ "สนับสนุน" องค์กรที่ไปลงทุนนั้น ในต่างประเทศ กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนบำนาญข้าราชการของแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังว่าความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตนจะช่วยปรับพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ ได้
ในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการตั้ง "กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย" ซึ่งมุ่งลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี แล้วเอาเงินปันผลส่วนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอรัปชัน ซึ่งมีผลดีทั้งมิติทางสังคมและมิติทางสัญลักษณ์ 
ดังนั้น คำถามในเรื่องนี้ก็คือ Thai PBS ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ควรลงทุนใน CPF หรือไม่? หากดูท่าทีของสาธารณะต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเครือซีพีในกรณีต่างๆ ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ผู้บริหาร Thai PBS ควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้ครับ

logoline