svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ขนส่งเชียงใหม่ล่อซื้อ "Uber-Grab" เจอปรับคันละ 2 พัน หลังแท๊กซี่จริงแจ้งเบาะแส

02 มีนาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขนส่งเชียงใหม่บูรณาการตำรวจ-ทหารออกตรวจสอบ รถป้ายดำส่วนบุคคลนำมารับจ้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในรูปแบบบริการผ่านแอพลิเคชั่น Uber Taxi-Grab Taxi นำร่องเปรียบเทียบปรับไปแล้ว 6 ราย ระบุเป็นธุรกิจข้ามชาติทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสัน แนะผู้ใช้บริการหวั่นเกิดความไม่ปลอดภัย ด้านสหกรณ์แท็กซี่เวียงพิงค์ เผยได้รับผลกระทบหนัก ระบุมีรถเถื่อนวิ่งกว่า 1,000-2,000 คัน จี้รัฐจัดระเบียบ

นายชาญชัย กีฬาแปง ขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทางผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดง และรถแท็กซี่มิเตอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้ามาร้องเรียนยื่นหนังสือขอให้มีการตรวจสอบกรณีถูกรถUber Taxi และรถ Grab Car นำรถป้ายดำส่วนบุคคลนำมารับจ้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และหลังจากนั้นทางกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว ได้ทดลองเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นGrab Car ปรากฎว่ามีเจ้าของรถนำรถยนต์ป้ายดำส่วนบุคคลมารับจ้างจริิง ทางสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ จึงแจ้งให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียน และดำเนินการปรับ จำนวน 2,000 บาท จำนวน 1 ราย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560
พร้อมกันนี้ เมื่อในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ทางกลุ่มผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดง และรถแท็กซี่มิเตอร์ในจังหวัดเชียงใหม่ ยังพบการเข้ามาให้บริการในลักษณะนี้อีก และแจ้งเบาะแสมาให้ จึงได้บูรณาการกับทางตำรวจ และทหารออกตรวจบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่ ได้จับรถป้ายดำ Uber Taxi และ Grab Car ที่นำรถมารับจ้างเป็นรถแท๊กซี่ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เปรียบเทียบปรับคันละ 2,000 บาท พร้อมบันทึกประวัติผู้ชับรถผู้กระทำผิด 4 ราย ออกคำสั่งผู้ตรวจการ 1 ราย
ขณะเดียวกัน ได้ทำการประชาสัมพันธ์ไปยังเจ้าของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลทุกรายที่เข้าร่วมกับสมาชิกของแอปพลิเคชันดังกล่าว ให้หยุดกระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบ หรือมีผู้แจ้งเบาะแสจะดำเนินการตามกฎหมายเปรียบเทียบปรับสูงสุดทันทีทุกราย และขอความร่วมมือผู้ใช้บริการให้เลือกใช้แท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัย เพราะรถดังกล่าวไม่อยู่ในระบบฐานข้อมูลการตรวจสอบรถโดยสารสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก และเท่าที่ตรวจสอบในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าไม่มีสำนักงาน แต่ใช้การบริหารจัดการผ่านระบบออนไลน์ และแอพพลิเคชั่น
"ตอนนี้ค่อนข้างเป็นห่วง เพราะมีผลกระทบต่อรายได้ของรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกว่า 400 คัน อีกทั้งกำลังเกิดปัญหาการตัดราคาค่าบริการ โดยทั้ง 2 รายที่เข้ามาให้บริการผ่านแอพลิเคชั่น เป็นธุรกิจข้ามชาติ ต่างงัดกลยุทธ์ทางการตลาดมาดึงดูใจลูกค้าในอัตราที่ถูกมาก โดยทาง Uber Taxi และ Grab Car จะจ่ายส่วนต่างชดเชยให้กับสมาชิกที่นำรถป้ายดำส่วนบุคคลมารับจ้างเอง แต่เมื่อมีกระแสนี้ขึ้นมา ตอนนี้ก็จะมีประชาชน หรือผู้ที่้ได้รับผลกระทบแจ้งเบาะแสมาแทบทุกวัน ซึ่งเบื้องต้นมีการเปรียบเทียบปรับ แต่หากพบว่ายังฝ่าฝืนซ้ำก็อาจจะต้องพักใบอนุญาตขับขี่ และบันทึกประวัติ" นายชาญชัย กล่าว
เท่าที่ตรวจสอบพบว่า ในจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกรุงเทพฯ เมื่อมีบริการลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายขึ้นมา พบว่าเป็นการทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสันไม่ใช้งานอาชีพเสริม แต่มีการนำรถยนต์ โดยเฉพาะซิตี้คาร์ มาจอดในสถานที่ต่างๆหลายร้อยคัน โดยคาดว่าน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 400-500 คัน ซึ่งก็ต้องมีการบูรณาการในการตรวจสอบต่อไป โดยเรื่องนี้ได้มีการหารือในระดับจังหวัด เพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาระยะยาวแล้ว
นายกฤษณ์ ศรีเปารยะ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเจ็ดยอดบาร์เทอร์จำกัด ผู้ถือลิขสิทธิ์GRAB TAXIจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ยอมรับว่าจำนวนรถGRAB TAXI เชียงใหม่ ที่ให้บริการในนามของสหกรณ์แท็กซี่เวียงพิงค์ จำกัดมีจำนวนน้อยเพียง 50 คัน และรถร่วมของสหกรณ์นครลานนาเดินรถจำกัดอีก 20 คัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าที่ต้องการเดินทางด้วยความสะดวกและรวดเร็วที่มีกว่า 4,000 เที่ยวต่อวัน แต่ปรากฎว่า เมื่อมี Uber Taxi และ Grab Car เข้ามาให้บริการอย่างไม่ถูกต้องในจังหวัดเชียงใหม่่ ทำให้รายได้ของสมาชิกลดลงจนบางวันไม่ได้วิ่งบริการ
ตอนนี้ประเมินว่ามีรถยนต์นำรถป้ายดำส่วนบุคคลนำมารับจ้างในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายไม่น่าจะต่ำกว่า 1,000-2,000 คัน ซึ่งหากว่าไม่มีการจัดระเบียบจะก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะเป็นธุรกิจข้ามชาติ และยังไม่มีการควบคุมทางด้านของความปลอดภัย รวมถึงการอบรมที่ถูกต้องจากทางกรมการขนส่งทางบก ซึ่งอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปราบอย่างจริงจัง

logoline