svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กำแพงกั้นชายแดนของทรัมป์กับการใช้ Internet of Things

16 กุมภาพันธ์ 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่บ่อยนักที่จะมีนโยบายที่เป็นที่พูดถึงและถูกวิจารณ์กันอย่างมากดังเช่นการที่จะสร้างกำแพงกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก ซึ่งจะเป็นกำแพงที่มีความยาวถึง 2,000 ไมล์ตลอดแนวชายแดนของทั้งสองประเทศและคาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณ 15 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งงบประมาณดังกล่าวยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับค่าจ้างบุคลากร เจ้าหน้าที่ และวัสดุอุปกรณ์สำหรับการลาดตระเวนต่างๆ เป็นต้น

แนวชายแดนระหว่างสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกมีความยาวเกือบ 2,000 ไมล์ ซึ่งเป็นแนวชายแดนที่เป็นพื้นดินที่ถือว่ายาวมากโดยเฉพาะเมื่อมีการเปรียบเทียบกับแนวชายแดนภาคใต้ของเม็กซิโก อย่างไรก็ดี ผู้อพยพเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายส่วนใหญ่ที่มาจากเม็กซิโกมักจะเดินทางเข้าสู่สหรัฐอเมริกาผ่านจากประเทศอื่นที่อยู่ทางใต้ของเม็กซิโก
งบประมาณมูลค่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐนั้น ประมาณว่าต้นทุนในการสร้างกำแพงชายแดนคือ 12.8 ล้านเหรียญสหรัฐต่อไมล์ ซึ่งขณะนี้มีการสร้างรั้วอยู่แล้วความยาวประมาณ 670 ไมล์ แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ารั้วกั้นเหล่านี้จะยังคงอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ แต่สัญญาณต่างๆ ล้วนมุ่งไปที่เรื่องการสร้างกำแพงใหม่ตลอดแนวชายแดน อีกทั้งผู้ที่จะมารับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นยังคงไม่ชัดเจน แต่ขณะนี้ยังคงตกเป็นภาระของผู้เสียภาษีของสหรัฐอเมริกา
ทรัมป์ให้คำตอบว่า จะใช้คอนกรีต เหล็กเส้นและเหล็กในการก่อสร้างกำแพง โดยทรัมป์บอกเป็นนัยว่ากำแพงนี้จะสูงประมาณ 90 ฟุต ซึ่งเป็นกำแพงกั้นชายแดนที่สูงมากกว่าที่เคยสร้างเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ที่มีความสูง 55 ฟุตกำแพงชายแดนนี้จะเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ และอาจจะเป็นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดเพียงแห่งเดียวในประวัติศาสตร์โลกสมัยใหม่
จากบทสัมภาษณ์ของ Todd Sternfield ซึ่งเป็น CEO ของบริษัท Superior Concrete Products โดย Todd ได้กล่าวว่าในการสร้างกำแพงนี้จำเป็นจะต้องใช้คอนกรีตถึง 250,000 รอบการขนโดยรถบรรทุก นอกจากนี้ยังต้องใช้เหล็กเสริมความแข็งแรงและวัสดุอื่นๆ อีกหลายตัน ซึ่งการจะสร้างกำแพงนั้นสามารถทำได้แต่ใช้เงินมากและไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
อีกปัญหาหนึ่งของโครงการก่อสร้างกำแพงคือการจัดการเรื่องที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ตามแนวเขตชายแดน โดยรัฐบาลจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่เจ้าของที่ดินเหล่านั้นในราคาที่เป็นธรรมซึ่งถือเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอีก หรือจะทำการเวนคืนโดยยึดเอาที่ดินเหล่านั้นมาเป็นของรัฐบาลโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่ง โดนัล ทรัมป์ ยังคงกล่าวย้ำว่าอาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้มาตรการการยึดเอาที่ดินเหล่านั้นมาเป็นของรัฐบาล แต่วิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่มักจะทำกัน เพราะเป็นการบังคับในการยึดที่ดินคืนจากเจ้าของที่ดิน โดยขณะนี้กำแพงชายแดนที่มีอยู่ตอนนี้ ทำให้เกิดความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ เมื่อกำแพงจะต้องสร้างผ่านที่ดินเอกชน สนามกอล์ฟ Texas ต้องหยุดดำเนินกิจการเมื่อกำแพงชายแดนได้แบ่งแยกพื้นที่ของสนามกอล์ฟ
การสร้างกำแพงระยะทางระหว่าง 1,300 และ 2,000 ไมล์ตลอดแนวชายแดนนั้น เป็นเรื่องที่ท้าทาย ทั้งแนวเขตที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติ แนวชายแดนบางส่วนที่เป็นเนินเขาสูง แม่น้ำและพื้นที่ขรุขระต่างๆ ซึ่งยิ่งทำให้การสร้างกำแพงยิ่งยากมากขึ้น ดังนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีทางเลือกอื่น ที่สามารถสร้างกำแพงได้โดยไม่ต้องรุกที่ดินเอกชน และทำลายภูมิประเทศทางธรรมชาติ
ทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้แทนที่แนวเขตที่ต้องสร้างขึ้นคือ การใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ซึ่งสามารถช่วยให้เราสามารถรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนได้และสามารถติดตามได้ด้วยว่า อะไรที่เข้าและออกจากประเทศของเรา ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการนำมาใช้กันอยู่แล้ว โดยในประเทศหลายประเทศ ได้มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยตามแนวเขตชายแดน
หลังจากที่ประเทศอิสราเอลถูกจู่โจมตามแนวชายแดนทิศใต้ จึงได้ให้บริษัท Magna BSP ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยมาออกแบบระบบให้ โดย Magna BSP สามารถตรวจจับการบุกรุกของมนุษย์ที่ไม่ว่าจะเดินเท้า คลาน ว่ายน้ำหรือขับรถผ่านแนวเขตชายแดนได้ โดยไม่มีข้อผิดพลาดเลย และยังสามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนให้หน่วยลาดตระเวนตามชายแดนรู้ตำแหน่งของผู้บุกรุกที่แน่นอนด้วย และยังสามารถตรวจจับวัตถุ เช่น อาวุธได้ด้วย นอกจากนี้ เมื่อมีการสร้างกำแพงกั้นก็ตาม แต่อย่าลืมว่า "โดรน" ก็ยังสามารถข้ามผ่านกำแพงไปได้ แต่อย่างไรก็ตามระบบของ Magna BSP สามารถตรวจจับโดรนและอากาศยานอื่นๆ ได้ แม้ในเวลากลางคืนก็ตาม
อีกเทคโนโลยีหนึ่งที่มีการใช้งานกันอยู่แล้วคืออาคารเซนเซอร์ อาคารเหล่านี้บรรจุไว้ซึ่งเทคโนโลยีมากมาย ทั้งเรดาร์ กล้องอินฟราเรด การตรวจจับความร้อน และการเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยลาดตระเวนชายแดนได้เป็นอย่างดี อาคารเหล่านี้ทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายร่วมกับอาคารอื่นๆ ด้วย โดยเมื่อมีคนข้ามผ่านเครือข่ายในการตรวจจับ จะมีสัญญาณแจ้งเตือนพร้อมวิดีโอแบบ real-time แสดงผลทันที
แต่การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ ก็ยังมีความท้าทายเช่นกัน โดยตอนเปิดตัวเทคโนโลยีครั้งแรกนั้น พบว่าเทคโนโลยีมีราคาสูงมาก และมีความผิดพลาดบ่อยครั้ง โดยในปี ค.ศ. 2006 การทดสอบของ SBInet ผู้เริ่มต้นใช้เทคโนโลยีนี้เป็นรายแรกๆ ต้องใช้เงินเกินงบประมาณที่ตั้งไว้หลายเท่าเพื่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งหลังจากนั้น เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นตามมา สามารถทำงานได้ดีขึ้น มีความถูกต้องแม่นยำ และใช้งานได้ในระยะไกล หน่วยลาดตระเวนชายแดนสามารถนั่งทำงานในห้องทำงานและยังสามารถตรวจสอบบุคคลที่บุกรุกได้ในระยะไกลออกไป 7 ไมล์ และสามารถแจ้งให้หน่วยลาดตระเวนในพื้นที่นั้นๆ บุกจับได้โดยทันที
การสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องใช้เงินทุนสูงและยากที่จะรื้อถอน และประสิทธิภาพการใช้งานยังคงจำกัดอยู่เพียงการข้ามชายแดนผ่านทางการเดินเท้าหรือใช้ยานพาหนะข้ามชายแดนเท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยมาก ที่ผู้อพยพเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายของสหรัฐอเมริกาจะใช้เป็นเส้นทางผ่านแบบนั้น
เจ้าหน้าที่หน่วยการตรวจคนเข้าเมืองของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าวิธีทั่วไปสำหรับการอพยพเข้ามายังสหรัฐอเมริกาแบบผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะใช้วิธีการเดินทางทางอากาศ หรืออุโมงค์ ที่กำแพงก็ไม่สามารถกั้นได้ ดังนั้น หากจะต้องลงทุนเงินจำนวนมหาศาล เพื่อสร้างกำแพงกั้น ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด การตรวจตราที่ใช้ได้ดีกว่า มีความแม่นยำ และตอบสนองได้อย่างรวดเร็วคือการนำเทคโนโลยี Internet of things มาใช้ หรืออาคารเซนเซอร์ หรือกล้องสอดแนมต่างๆ อาจจะใช้งานง่ายกว่าการสร้างกำแพงคอนกรีตขนาดใหญ่กั้น แต่อย่างไรก็ตาม การสร้างนโยบายที่สุดโต่งแต่ไม่น่าเป็นไปได้ ก็อาจเกิดประโยชน์ในเชิงการเมืองระดับโลกอย่างที่ทรัมป์กำลังทำอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลดีกับการบริหารงานบางอย่างของทรัมป์ก็เป็นได้ เพราะทรัมป์ไม่น่าโง่จนไม่รู้ว่าเป็นไปได้ยากและไม่มีประสิทธิภาพจริง
Reference[1] http://readwrite.com[2] http://www.foxnews.com/politics/2017/02/14/trumps-border-wall-could-face-geology-problem.html[3] http://mobile.reuters.com/article/idUSKBN15O2ZN[4] http://www.cnbc.com/2015/10/09/this-is-what-trumps-border-wall-could-cost-us.html-------------------พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณรองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม15 กุมภาพันธ์ 2560www.เศรษฐพงค์.com-------------------หากท่านสนใจความรู้ด้านดิจิทัลเข้าร่วมกับเราและทักเข้ามาที่LINE id : @march4g-------------------

logoline