svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!

26 พฤศจิกายน 2558
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ท่าอากาศยานภูเก็ตฝึกซ้อมการกู้ภัยกู้ชีพผู้ประสบภัยทางทะเล เตรียมรองรับกรณีเกิดเหตุเครื่องบินตกทะเล เนื่องจากสนามบินตั้งอยู่ติดกับชายหาด

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 บริเวณริมทะเลหาดในยาง ด้านหน้าสโมสรวิทยุการบินภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยนางมนฤดี เกตุพันธุ์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต จัดให้มีการการฝึกซ้อมการกู้ภัย-กู้ชีพผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งเป็นครั้งแรกของท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งในภูมิภาค ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!


ซึ่งการฝึกซ้อมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหลักสูตร การกู้ภัยทางทะเลของท่าอากาศยานภูเก็ต กำหนดระหว่างวันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2558 โดยมี ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 18 ภูเก็ต น.อ.พงจักร อุไรมาลย์ ผู้บังคับการหมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาค 3 ผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต ผู้แทนจากวิทยุการบินภูเก็ต ผู้แทนจากสายการบินต่างๆ ผู้นำชุมชน และพนักงานเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานภูเก็ตที่เกี่ยวข้องร่วมชมการฝึกซ้อม ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เฮลิคอปเตอร์ จากหมวดบินเฉพาะกิจ ทัพเรือภาคที่ 3 เรือยางจากตำรวจน้ำภูเก็ต เป็นต้น

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!


โดยมีการสมมติสถานการณ์ ว่า เกิดเหตุเครื่องบิน Private ซุปเปอร์คิงห์แอร์ แบบ 350 ตกในทะเล เนื่องจากขณะนั้นได้เกิดกระแสลม Wind Shear ห่างจากชายฝั่งด้านหัวทางวิ่ง 09 ประมาณ 1 กิโลเมตร และภายในตัวเครื่องมีลูกเรือและผู้โดยสาร จำนวน 10 คน โดยลำตัวอากาศยานค่อยๆ จมลงในทะเล แต่ผู้โดยสารและลูกเรือสามารถหนีออกมาภายนอกอากาศยานได้ หลังจากศูนย์รักษาความปลอดภัยและดับเพลิงท่าอากาศยานได้รับแจ้ง จึงรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ และประสานหน่วยที่เกี่ยวเข้าทำการช่วยเหลือ ประกอบด้วย หมวดบินเฉพาะกิจฯ ทีมช่วยเหลือกู้ชีพไลฟ์การ์ด และทีมประดาน้ำ พร้อมเรือยางออกปฏิบัติช่วยเหลือนำผู้ประสบเหตุขึ้นฝั่งและนำส่งโรงพยาบาล

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!


นางมนฤดี กล่าวว่า เนื่องจากท่าอากาศยานภูเก็ต เป็นท่าอากาศยานที่มีอาณาเขตติดกับทะเล  โดยเฉพาะปลายทางวิ่ง 09 ที่ติดกับริมฝั่งทะเล ซึ่งมีโอกาสความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุในกรณีเครื่องกำลังลงจอดหรือทำการวิ่งขึ้น รวมถึงเกิดอุบัติเหตุตกในทะเลบริเวณใกล้เคียงกับท่าอากาศยานภูเก็ต ด้วยเหตุผลดังกล่าวปัจจุบันกรมการบินพลเรือน (บพ.)ได้ให้ความสนใจต่อการบริหารจัดการของท่าอากาศยานภูเก็ต เพื่อรองรับเหตุการณ์อุบัติเหตุทางทะเลดังกล่าว และให้คำแนะนำไว้ว่าควรจะมีการจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือและบุคลากรไว้ เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) 

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานภูเก็ตยังมีพื้นที่ติดกับแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ หาดในยางกับหาดไม้ขาว ซึ่งเป็นชายหาดที่สวยงาม รวมความยาวประมาณ 13 กิโลเมตร ในแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้บางคนได้ลงเล่นน้ำบริเวณแนวรั้วท่าอากาศยานภูเก็ต และจากการที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ชายหาดหรือว่ายน้ำไม่ชำนาญทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยต้องประสบอุบัติเหตุจมน้ำได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นประจำทุกปี
ส่วนดับเพลิงและกู้ภัย ท่าอากาศยานภูเก็ต มีหน้าที่รับผิดชอบอุบัติภัยในพื้นที่รัศมี 8 กิโลเมตรรอบท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งพื้นที่บางส่วนเป็นริมฝั่งทะเล และท่าอากาศยานภูเก็ตยังไม่มีการเตรียมอุปกรณ์และบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำโครงการฝึกอบรมการกู้ภัยทางทะเล ท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งเป็นโครงการในแผนการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ท่าอากาศยานภูเก็ต กรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ โดยมีหน้าที่ในการวางแผนการปฏิบัติงาน/ประสานงานกับหน่วยงานของส่วนราชการต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานของเอกชน และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน การรับแจ้งเหตุจากหน่วยงานต่างๆติดตามสถานการณ์ข่าวจากกรมอุตุนิยมวิทยาฯ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งจัดเตรียมยานพาหนะต่างๆ ณ ที่ตั้ง

สนามบินภูเก็ตซ้อม...รับมือเครื่องบินตกทะเล!


นางมนฤดี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของการจัดโครงการฯ ว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือกู้ภัยผู้ประสบภัยทางทะเล จากกรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุในทะเล เพื่อยกระดับองค์กรและให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมการบินพลเรือนและองค์การการบินระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยในด้านการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเพื่อพัฒนาสมรรถภาพของบุคลากรด้านการกู้ภัย สำหรับนำไปใช้ในภารกิจของหน่วยงาน เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบกู้ภัยทางทะเลให้กับบริษัทสายการบินและผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายการปฏิบัติงานกู้ภัยของท่าอากาศยานภูเก็ตกับหน่วยงานท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วย

logoline