svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คนไทยป่วยโรคไบโพลาร์ 1 ล้านคน

27 มีนาคม 2557
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ทั่วโลกป่วยโรคไบโพลาร์กว่า 27 ล้านคน คนไทยป่วยอย่างน้อย 1 ล้านคน แนวโน้มเพิ่มขึ้น เผย 69 %วินิจฉัยโรคผิด จิตแพทย์แนะสงสัยเข้าข่าย รีบพบแพทย์ ย้ำค้นหาเจอรักษาหาย

เมื่อเวลา 14.00 น. ที่โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ ประธานเครือข่ายโรคไบโพลาร์แห่งเอเชีย(ANBD) กล่าวในการจัดกิจกรรมวิชาการน่ารู้สู่ประชาชน เรื่อง อารมณ์คงที่ ชีวีมีสุข (Stable Mood, Good Life) เนื่องในวันไบโพลาร์โลก 30 มีนาคมของทุกปีซึ่งปีนี้เป็นปีแรก จัดโดยสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมความผิดปกติทางอารมณ์แห่งประเทศไทย ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย ชมรมจิตเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและประสาทจิตเวชศาสตร์ไทย ชมรมเพื่อนไบโพลาร์และเครือข่ายโรคไบโพลาร์ของทวีปเอเชียว่า ทั่วโลกมีการประมาณการณ์ว่ามีผู้ป่วยโรคไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้วประมาณ 27 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทย กรมสุขภาพจิตมีการสำรวจระดับชุมชนพบว่าในปี 2546 มีผู้ป่วยราว  6 แสนค้น ในอีก 5 ปีคือในปี 2551 มีผู้ป่วยประมาณ 9 แสนคนจะเห็นว่าจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีความเข้าใจในโรคนี้มากขึ้น ปัจจุบันคาดว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไบโพลาร์อย่างน้อย 1 ล้านคน พบได้ในทุกช่วงวัย        "ปัญหาหนึ่งของโรคไบโพลาร์คือใช้เวลานานในการที่จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคนี้ โดยเฉลี่ย 4-5 ปีบางรายอาจนอนถึง 10 ปี และมีถึง 69% ที่มีการวินิจฉัยผิดว่าเป็นซึมเศร้าหรือโรคจิตแทนที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคไบโพลาร์ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าโรคนี้แม้ว่ารุนแรง แต่ให้รีบค้นหา เพราะรักษาหาย ดังนั้น หากมีความสงสัยควรเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ "ศ.นพ.พิเชฐกล่าว        ด้านนพ.พิชัย อิฏฐสกุล แพทย์ประจำคลินิกโรคอารมณ์สองขั้ว กาควิชาจิตเวชศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ จะมีความผิดปกติทางอารมณ์โดยการแสดงออกทางอารมณ์รุนแรงกว่าปกติ เป็นอยู่นาน อย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำววัน โดยอาการของผู้ป่วยจะมีอารมณ์สองขั้ว คือ ช่วงอารมณ์ขึ้นหรืออารมณ์ดีมากๆ คึกคัก(Mania /Hypomania) เช่น ความคิดแล่นเร็ว คิดหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน วอกแวก มีความต้องการในการนอนน้อย คำพูดเร็ว เสียงดังใครขัดใจจะหงุดหงิด รู้สึกตัวเองมีพลังมาก มั่นใจในตัวเอง มีสิ่งที่อยากทำมากมายแต่ทำสิ่งหนึ่งยังไม่เสร็จก็จะเปลียนไปทำอีกสิ่งหนึ่ง และช่วงอารมณ์เศร้า(Depression) ซึมเศร้า พูดน้อย ความสนใจสิ่งต่างๆลดลง สมาธิแย่ลง การนอนผิดปกติ เชื่องช้าลง รู้สึกไร้ค่า อยากตาย เป็นต้น        นพ.พิชัย กล่าวอีกว่า สาเหตุของการป่วย ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อาจทำให้เสี่ยงเป็นโรคมากขึ้น หากพ่อแม่คนใดคนหนึ่งป่วยเป็นโรคนี้ จะมีโอกาสป่วย 10-15 % รวมถึงสิ่งแวดล้อม มีสิ่งมากระตุ้น เช่น ความเครียด อกหัก สอบตก เป็นต้น และการเปลี่ยนแปลงภายในสมอง ส่วนการรักษา จิตแพทย์จะให้ยา ควบคู่กับการรักษาทางด้านจิตใจ โดยช่วยให้คนไข้เรียนรู้และปรับตัวกับปัญหา และรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ใช้ไฟฟ้า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของจิตแพทย์

logoline