svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จากโลกถึงไทย... บทเรียนเลือกตั้งใหญ่สารพัดปัญหา

30 เมษายน 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สรุปปัญหาที่นำมาสู่ความไม่เชื่อมั่น ก็ชัดเจนว่ามีทั้งความผิดพลาด ล่าช้า และการสื่อสารกับสังคมที่สับสน แต่เวทีสัมมนายังไม่หมดแค่นี้ ยังมีการวิพากษ์ถึงบทบาทสื่อมวลชนในประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ในบริบทการรายงานข่าวเลือกตั้งด้วย ประเด็นนี้น่าสนใจมากๆ เพราะบทบาทสื่อส่งผลต่อการเลือกตั้งไม่น้อย ติดตามประเด็นนี้ได้จากรายงานพิเศษของทีมล่าความจริง คุณชลธิชา รอดกันภัย


ความสับสนวุ่นวายหลังการเลือกตั้ง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยของเราเท่านั้น แต่เพื่อนบ้านในอาเซียนที่เพิ่งจัดการเลือกตั้งหลังไทยไม่นานอย่างอินโดนีเซียก็โกลาหลไม่แพ้กัน


คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยชื่อดังของอินโดนีเซีย บอกว่า นอกจากเจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งกว่า 272 คนต้องสังเวยชีวิตด้วยอาการอ่อนล้าเรื้อรังหลังทุ่มเทปฏิบัติภารกิจในวันเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหญ่ที่สุดของโลก กับจำนวนประชากรกว่า193 ล้านคนที่เดินทางมาใช้สิทธิออกเสียงแล้ว ยังพบปัญหาการประกาศผลคะแนนที่ไม่แน่นอน ทำให้ต่างฝ่ายต่างเคลมว่าตนเองเป็นฝ่ายชนะ

อิทธิพลของฝ่ายการเมืองในอินโดนีเซียซึ่งแบ่งเป็น 3 ขั้วใหญ่ๆ ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนอินโดฯ ที่มีกว่า 1,300 องค์กรจากทุกแพลทฟอร์มด้วย นักวิชาการจากแดนอิเหนา อธิบายว่า สื่อยุคนี้ถูกครอบงำด้วยบรรณาธิการข่าวและเจ้าของสื่อที่มีขั้วการเมืองคอยหนุนหลัง ทำให้การนำเสนอถูกตีกรอบ ไม่มีเสรีภาพอย่างที่ควรจะเป็น อินโดนีเซียจึงมีสถาบันที่ทำหน้าที่ควบคุมสื่อไม่ให้หลุดกรอบออกไป แต่หากสื่อไหนเลือกข้าง สื่อนั้นก็จะประกาศตัวชัดเจนว่าสนับสนุนขั้วการเมืองใด ทำให้ประชาชนผู้บริโภคข่าวสารสามารถเลือกรับชมได้อย่างเสรี แต่สุดท้ายแล้วประชาชนก็จะค่อยๆ เลิกติดตามสื่อนั้น เพราะความน่าเชื่อถือลดลง

ไม่ต่างจากเกาหลีใต้ ที่แม้จะมองจากภายนอกว่าระบบการเมืองพัฒนาไปมากกว่าไทย แต่จริงๆ แล้วก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งและปัญหาการเมืองไม่น้อยเช่นกัน ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการต่างประเทศฮันกุก ดอกเตอร์ ซุก ชอย บอกว่า ในเกาหลีเกิดปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและครอบงำประชาชนโดยสื่อ มีการเผยแพร่เฟคนิวส์ หรือข่าวปลอม เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง จนทำให้ความขัดแย้งในสังคมเข้าขั้นวิกฤต เพราะเฟคนิวส์ถูกกระจายต่ออย่างรวดเร็วผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ไร้การตรวจสอบ ขณะที่ทางการเกาหลีทำได้เพียงเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข่าวที่ถูกต้อง รวมทั้งจัดอบรมผ่านหน่วยงานรัฐเพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ

ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งติดตามการเลือกตั้งของไทยมาอย่างต่อเนื่อง มองว่า บทบาทของสื่อในบริบทเลือกตั้ง คือการเกาะติดทุกขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนได้รู้ผลการเลือกตั้งอย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว แต่สื่อต้องไม่ใส่ความคิดเห็นหรือแสดงวิสัยที่เอนเอียงลงไปในข่าว

มุมมองของเหล่านักวิชาการจากต่างประเทศ และต่างภูมิภาค ทำให้เห็นความจริงว่า ทุกที่ที่มีการแข่งขัน ย่อมมีปัญหา และการเลือกตั้งก็คือการแข่งขันรูปแบบหนึ่ง แต่ปัจจัยที่จะช่วยไม่ให้ปัญหาลุกลามบานปลาย ก็คือจรรยาบรรณและความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนในประเทศนั้นๆ นั่นเอง

logoline