svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

(คลิปข่าว) ค้าปลีกฯ จี้ ทอท.รื้อประมูลแก้ผูกขาด "ดิวตี้ฟรี"

21 มีนาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย วรวุฒิ อุ่นใจ ระบุ สมาคมฯ คัดค้านกรณีที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย จะเปิดประมูลสิทธิเข้าร่วมประมูลประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ เป็นสัมปทานรายเดียว รวมถึงการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สมาคมฯ ยืนยันว่าการประมูลพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ควรแยกออกเป็น 3 ฉบับ คือ 1.สุวรรณภูมิที่ต้องเป็นรูปแบบสัมปทานหลายรายตามหมวดหมู่สินค้า 2. ภูเก็ตเป็นรูปแบบสัมปทานรายเดียว 3. ร้านดิวตี้ฟรีในสนามบินเชียงใหม่และหาดใหญ่รวมกันเป็น 1 ฉบับ พร้อมเรียกร้องให้ล้มการประมูลในครั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ ทอท.จะเลื่อนการขายซองประมูลออกไปอย่างไม่มีกำหนด จากเดิมจะเริ่มขายซองวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62 แล้วก็ตาม เพราะเป็นการประมูลหาผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งถือเป็นการผูกขาด เพราะสนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสารแต่ละปีสูงถึง 62.8 ล้านคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยว
ขณะที่ ทอท.อ้างว่าให้สัมปทานรายเดียวเพราะการกระจายตัวของผู้โดยสารมีความไม่แน่นอน นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการให้สัมปทานตามหมวดหมู่สินค้าสามารถจัดให้กระจายได้หลายจุดในสนามบินซึ่ง ทอท. สามารถวางแผนจัดสรรพื้นที่ได้  ซึ่งปัจจุบัน สนามบินสุวรรณภูมิเป็นสนามบินขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ยังคงใช้ระบบ Master Concession คือการให้สัมปทานผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีรายใหญ่เพียงรายเดียวสำหรับทุกหมวดสินค้า 

ทั้งนี้ การจัดสรรสัมปทานร้านดิวตี้ฟรีหลายรายในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยแบ่งตามหมวดหมู่สินค้า (Concession by Category) เพื่อให้ตรงกับหลักสากลและประโยชน์สูงสุด เนื่องจากปัจจุบันมีสนามบินชั้นแนวหน้าในเอเชีย เช่น สนามบินชางฮี อินชอน ฮ่องกง ที่ดำเนินการในรูปแบบดังกล่าว โดยร้านดิวตี้ฟรีในต่างประเทศให้ผลตอบแทนสูง 30-40% ต่างจากร้านดิวตี้ฟรีของไทยให้ผลตอบแทนเพียง 15-19% 
ส่วนการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ สมาคมฯ ขอเสนอแนะให้ ทอท.และกรมศุลกากร เป็นผู้ดำเนินการให้บริการเปิดจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะ (Pick-up Counter) โดยไม่ต้องเปิดสัมปทาน หรือ หากจะให้สัมปทานควรกำหนดหลักเกณฑ์ ว่า ผู้ที่จะเข้าประมูลสัมปทานในกรณีนี้ต้องไม่ประกอบธุรกิจร้านค้าปลอดอากรในเมืองหรือมีส่วนได้เสียในสัมปทานร้านค้าปลอดอากร เพราะผู้ที่ได้สัมปทานที่เป็นผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในสนามบินอาจจะสามารถล่วงรู้ข้อมูลของผู้ประกอบการร้านค้าปลอดอากรในเมืองที่เป็นคู่แข่ง และเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ดังนั้น ทอท.ควรเป็นผู้ดำเนินการจุดรับมอบสินค้าสาธารณะเอง 

นอกจากนี้ สมาคมฯ เสนอแนะให้ตรวจสอบสัมปทานทั้งร้านดิวตี้ฟรีและร้านค้าเชิงพาณิชย์ว่าอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฉบับใหม่หรือไม่ โดยให้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายภายใต้คณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
และเสนอให้ ทอท.ใช้การประเมินสำหรับการประมูล 2 ขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 ประเมินข้อเสนอด้านเทคนิค ถ้าผ่านได้จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 ที่ใช้ผลตอบแทนทางการเงินเป็นการตัดสินสุดท้าย รวมทั้ง ทอท.ควรจะเปิดเผยข้อมูลผู้โดยสารและยอดขายตามเชื้อชาติและหมวดหมู่สินค้า ดังเช่นสนามบินฮ่องกง อินชอนและชางงี เพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยรายเดิมที่มีข้อมูลจะได้เปรียบกว่า นอกจากนี้ ควรจะมีระยะเวลาการทำแผนเข้าร่วมประมูลอย่างน้อย 60-90 วัน จากทีโออาร์ที่ออกมาให้เวลาเพียง 30 วัน เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่

logoline