svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

(คลิปข่าว) ทดสอบหน้าเว็บอาหารและยา พบปัญหาเช็คเลข อย.

27 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากคำถามของฝ่ายดาราที่ร่วมรีวิวผลิตภัณฑ์ของเมจิกสกิน และกำลังโดนตำรวจเล่นงานอยู่ในขณะนี้ มีประเด็นน่าสนใจเรื่อง "การตรวจเช็คเลข อย." โดยดาราหลายคนอ้างว่า ก่อนที่พวกเขาและเธอจะรับงานรีวิวสินค้า ได้พยายามตรวจเช็คแล้ว แต่ไม่สามารถเช็คได้ว่าสินค้านั้นทำการปลอมเลข อย.ขึ้นมา ทำให้เข้าใจไปว่าเป็นสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานของ "สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา" มาแล้ว

(คลิปข่าว) ทดสอบหน้าเว็บอาหารและยา พบปัญหาเช็คเลข อย.

เมื่อดาราชี้แจงมาแบบนี้ "ล่าความจริง" ก็ได้ลองทดสอบทำเหมือนดาราบ้าง คือเข้าลองเข้าไปตรวจเช็คเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อาหารและใกล้ๆ ตัว โดยเข้าไปในเว็บไซต์ของ อย. กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนที่เป็น "ระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์"


เมื่อเปิดหน้าเว็บนี้ขึ้นมา ปกติจะสามารถพิมพ์เลข อย. หรือพิมพ์ชื่อสินค้าได้เลย จากนั้นในระบบก็จะบอกสถานะว่า "คงอยู่" หรือ "เพิกถอน" ซึ่หมายถึงสินค้าตัวนี้ยังได้รับการรับรองจาก อย.อยู่ หรือว่าถูกเพิกถอนไปเรียบร้อยแล้ว ระบบการตรวจเช็คก็ดูดีในตอนแรกๆ แต่พอทดลองกับสินค้าบางตัว กลับไม่มีรายละเอียดนอกจากสถานะ

(คลิปข่าว) ทดสอบหน้าเว็บอาหารและยา พบปัญหาเช็คเลข อย.



นอกจากนั้น เมื่อเราคลิกเข้าไปในหน้าระบบตรวจสอบนี้ พบว่ามีข้อความแจ้งเตือนขึ้นมาทันที บางส่วนของข้อความระบุว่า "ปัจจุบันสถานประกอบการต่างจังหวัดบางราย อาจมีข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากมีข้อมูลที่เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ยื่นของอนุญาตโดยตรงกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น" หลังข้อความนี้มีวงเล็บว่า ดูเลข 13 หลัก ข้อมูลที่มีหลักที่ 9 เป็นเลข 2 จะสืบค้นไม่พบ


เลขในหลักที่ 9 นี้ หมายถึง หน่วยงานที่อนุญาตผลิตภัณฑ์ ให้คุณผู้ชมลองดูตัวอย่าง ทีมข่าวก็ลองหาของกินบนโต๊ะทำงานมาดูว่ามีอะไรที่ปรากฏเลข อย.หลักที่ 9 เป็นเลข 2 บ้าง เราก็พบว่ามีนมยี่ห้อดัง ชาเขียวแบบซอง แล้วก็ลูกอมอิมพอร์ตรถกาแฟ นี่แค่หาจากตามโต๊ะทำงานนะ ยังเจอตั้งเยอะ บางอย่างถ้าจะค้นหาสถานะ อย่างนมกล่อง ต้องระบุประเภทของการสืบค้นในฐานข้อมูลที่เขามีให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น อาหาร หรือยา หรือวัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ยาเสพติด หรือว่าเครื่องมือแพทย์ ตามที่มีช่องให้เลือก แต่ไม่สามารถเลือกจากช่อง "ฐานข้อมูลทั้งหมด" ได้ แปลว่าเราต้องเสียเวลาเลือกประเภทก่อน ถ้าเราไม่แน่ใจว่าอาหารเสริม หรือยาถูกจัดอยู่ประเภทไหนกันแน่ รวมไปถึงของกินบางอย่าง อย่างชาเขียวของทีมงาน ปรากฏว่าไม่ขึ้นข้อมูลอะไรเลย ทั้งที่เป็นแบรนด์มีชื่อเสียง ขายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

(คลิปข่าว) ทดสอบหน้าเว็บอาหารและยา พบปัญหาเช็คเลข อย.



คำถามคือ หากตรวจเช็คไม่ได้ ทั้งที่เป็นแบรนด์มีชื่อเสียง มาตรฐานของระบบตรวจเช็คแบบนี้ถือว่าสมบูรณ์มากพอหรือไม่ และที่สำคัญ หากว่าผู้ผลิตที่ตั้งใจหลอกผู้บริโภค โดยนำจุดอ่อนนี้ไปเป็นเครื่องมือ โดยบอกว่าจริงๆ แล้วเขาจดทะเบียนแล้ว แต่ระบบตรวจเช็คมีปัญหาล่ะ จะให้ผู้บริโภคทำอย่างไร นี่ยังไม่ต้องพูดถึงดาราที่รับรีวิวสินค้านะ

นอกจากนั้น เรายังได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า บางบริษัททำเรื่องขอ อย.เฉพาะผลิตภัณฑ์หลัก เมื่อได้ตรา อย.แล้ว ก็ไปทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายตัว เปลี่ยนสูตร เปลี่ยนส่วนผสม แต่ใช้ชื่อคล้ายๆ กัน แล้วไม่ขอ อย. แบบนี้เวลาเราสอบถามทางบริษัทผู้ผลิต มักจะอ้างว่า ได้ขอ อย.ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ไว้แล้ว นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่ อย.น่าจะต้องออกมาทำความเข้าใจกับสังคมให้ชัดว่าสุดท้ายแล้ว บริษัทผู้ผลิตอ้างแบบนี้ได้หรือไม่ และจะมีช่องทางการบริการเพื่อตรวจสอบอย่างไรที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วแม่นยำ

logoline