svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมพงษ์"อัด งบประมาณเป็นน้ำมันลิตรสุดท้ายของประเทศ แต่ใช้ผิด สับเละรับไม่ได้ 4 ข้อ

31 พฤษภาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ผู้นำฝ่ายค้าน"ซัด งบประมาณเป็นน้ำมันลิตรสุดท้ายของประเทศ แต่ใช้ผิด สับเละ ชี้ รับไม่ได้ 4 ประเด็น "ไม่จัดความสำคัญ-ไม่คำนึงทุกข์ประชาชน-ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดการคิดวางแผน-สะท้อนถึงความอ่อนด้อย ในการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ" ด้าน "นายกฯ" แจง สาธารณสุขมีงบอีก 3 กองทุน มากกว่างบกลาโหม ยันมิ.ย.วัคซีนทยอยเข้ามาเพียงพอ

วันนี้(31 พ.ค.) ที่รัฐสภา เวลา 11.30 น. นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวเปิดอภิปรายงบประมาณ ปี 2565 ว่า เราจะฝ่าช่วงเวลาวิกฤตของประเทศ และพาประชาชนอยู่รอดได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่างงบประมาณฉบับนี้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นภาวะวิกฤตด้านความมั่นคงทางสุขภาพที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์เศรษฐกิจ แรงงาน และสวัสดิการในภาวะฉุกเฉิน การจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบสนองและจัดการปัญหาหลายมิติ จึงจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อน ครอบคลุม การกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึงและเหมาะสม การจัดการและบริหารงบประมาณต้องอาศัยบุคคลที่เป็นผู้บริหารงบประมาณที่มีศักยภาพ สามารถเข้าใจปัญหา จัดการกับความสำคัญเร่งด่วนในการแก้ปัญหา รวมถึงการป้องกันและรับมือวิกฤตนี้ได้อย่างชาญฉลาด

แต่สิ่งที่เห็นเป็นข้อมูลประจักษ์ชัด กลับตรงกันข้าม เมื่อได้เห็นงบประมาณ ซึ่งรัฐบาลนำเสนอเข้ามาให้พิจารณา เหมือนท่านอยู่กันคนละโลกกับประชาชนเจ้าของประเทศ เพราะความเป็นจริงที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ คือยุทธศาสตร์การจัดการภาวะวิกฤต เป็นหลักประกันสำคัญในการกำหนดงบประมาณ เมื่อยุทธศาสตร์มีลักษณะแยกส่วน หน่วยงานแยกกันแบบต่างหน่วยต่างทำ และแย่งกันทำงานอย่างไม่ประสานกัน การจัดการงบประมาณยิ่งสะท้อนความล้มเหลวและความหละหลวมในการบริหาร วันนี้ พี่น้องประชาชนกำลังลำบากอย่างแสนสาหัส แต่รัฐบาลกลับวางแผนจัดงบประมาณปี 2565 ราวกับประเทศอยู่ในสถานการณ์ปกติดี

นายสมพงษ์ กล่าวต่อ นายกฯ ไม่ได้ยินเสียงของประชาชนที่กำลังเดือดร้อน หรือท่านมีศักยภาพในการคิด และบริหารจัดการได้เต็มที่เท่านี้ หรือท่านไม่สนใจว่าประเทศจะเสียหายอย่างไร ประชาชนจะเดือดร้อนแค่ไหน ขอเพียงพวกท่านยังรักษาอำนาจ และผลประโยชน์ของพวกพ้องได้ ก็เพียงพอแล้วใช่หรือไม่ ตนคิดว่ารัฐบาลกำลังจัดทำงบประมาณ ฉบับที่อยู่บนโลกคนละใบกับประชาชน ไม่อยู่บนโลกของความเป็นจริง

"การแก้ปัญหาของรัฐบาลในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งยืดยาด ล่าช้า ไม่เท่าทันกับปัญหาและสถานการณ์ จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิดในระลอก 2 และระลอก 3 ในปัจจุบันที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ในขณะนี้ สิ่งที่ประชาชนได้รับรู้ตลอดช่วงการระบาดที่เกิดขึ้น และทำให้เศร้าใจอย่างยิ่ง คือประชาชนได้เห็น "ความไม่พร้อมในทุกด้านของรัฐบาล" ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมรับมือกับปัญหาการระบาดของโรคในระลอกใหม่ การวางแผนจัดเตรียมวัคซีน ถือว่ารัฐบาลตัดสินใจผิดพลาดอย่างมากเท่าที่เคยมีมา ทั้งที่รับรู้กันทั่วทั้งโลกว่า ทางออกสำหรับวิกฤตโควิด-19 คือวัคซีน แต่ประชาชนไม่สามารถนำตนเองไปรับการฉีดวัคซีนได้

การบริหารจัดการวัคซีนสะท้อนถึงการวางแผนงบประมาณที่ต้องคิดเตรียมการ การจัดสรรวงเงินรองรับ ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนที่จำกัด ในขณะที่สถานการณ์การระบาดรุนแรงมากขึ้น สะท้อนถึงการไร้ศักยภาพในการบริหารจัดการของผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ และไม่มีแผนการรับมืออย่างเป็นระบบ อีกทั้งไม่เคยมีแผนทางเลือกเชิงอนาคต อย่างที่ผู้บริหารทั่วไปเขาใช้ในการบริหารงานอันเป็นหลักการพื้นฐานทั่วไป นอกจากนี้ด้านการบริหารเศรษฐกิจประเทศยิ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า เงินกู้ 1 ล้านล้านก้อนแรก ก็ไม่เกิดผลในการเยียวยา และไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด การนำงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ควรจัดสรรเพื่อเป็นส่วนฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ การจัดหางาน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อันจะเป็นการลงทุนเพื่อวางฐานสร้างอนาคตของประเทศ กลับถูกนำมาเป็นงบเยียวยาแบบเหวี่ยงหว่าน ระดมแจกเงินแบบไม่มี ยุทธศาสตร์ ไม่อาจคาดหวังที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้" นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งหมดพิสูจน์มาพอแล้วว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มือไม่ถึง บริหารจัดการไม่ได้ มาถึงวันนี้ที่จะต้องมีการจัดงบประมาณก้อนใหม่ ซึ่งเป็นเสมือน "น้ำมันลิตรสุดท้าย" ที่จะขับเคลื่อนประเทศ แต่กลับกลายเป็นว่า งบประมาณที่ท่านทำมานี้ เป็น "น้ำมันผิดประเภท" ไม่ตรงกับปัญหา และความต้องการของประเทศ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว สำหรับร่างงบประมาณ 2565 ที่รัฐบาลนำเสนอมาให้รัฐสภาพิจารณานั้น มีเรื่องที่ไม่อาจจะยอมรับให้ผ่านได้ใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.เป็นร่างฯ แผนงบประมาณที่ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา ไม่ตรงเป้า ไม่บรรเทาความเดือดร้อน ไม่ลดความรุนแรงของปัญหา วันนี้ท่านยังจัดงบประมาณให้กับกระทรวงกลาโหมมากที่สุดใน "ระดับ TOP FIVE" และที่สำคัญเป็นวงเงินงบประมาณ ที่มากกว่าของกระทรวงสาธารณสุข ถึงเกือบ 5 หมื่นล้านบาท มาที่กระทรวงมหาดไทยในขณะที่ประชาชนจำนวนมากยังไร้ที่อยู่อาศัย จำนวนคนตกงานมากเป็นประวัติการณ์ และคนจำนวนมากที่กำลังไม่มีเงินพอที่จะจ่ายค่าเช่าบ้าน ผ่อนบ้าน ชีวิตกำลังจะล่มสลาย แต่กระทรวงมหาดไทยขอตั้งงบประมาณเพื่อก่อสร้างบ้านพักหลังใหม่ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการในสังกัด รวมกว่าสองร้อยล้านบาท (217,173,500 บาท) ก่อสร้างและตกแต่งอาคารศูนย์ราชการ และศาลากลางจังหวัดกว่า 12 แห่ง รวมกว่า 6 ร้อยล้านบาท (614,054,200 บาท) ค่าก่อสร้างปรับปรุงที่ว่าการอำเภอต่างๆ ทั้งที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน จำนวนหลายรายการ รวมอีกกว่า 1.6 พันล้านบาท (1,624,126,800 บาท)กระทรวงมหาดไทยยังของบประมาณกว่า 1 ร้อยล้านบาท (106,243,400 บาท) เพื่อจัดเช่ารถประจำตำแหน่งให้กับผู้บริหารกระทรวงระดับสูง ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากในหลายพื้นที่ ยังขาดแคลนรถพยาบาลรับ-ส่งในยามเจ็บป่วย ที่น่าแปลกใจคือในแผนงบประมาณปี 2565 กลับพบว่า งบกระทรวงสาธารณสุข ถูกปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี ถึงกว่าสี่พันล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาบันวัคซีน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 เช่น การคัดกรอง การจัดหาชุดตรวจ และการบริหารจัดการวัคซีน ล้วนแต่ถูกตัดงบ

2.เป็นร่างฯแผนงบประมาณที่ไม่คำนึงถึงปัญหาทุกข์ร้อนของประชาชน ไม่แยแสทุกข์ของประชาชน ไม่เห็นประชาชนอยู่ในสายตาในสภาวะของประเทศ ที่ต้องการสวัสดิการเพื่อดูแลชีวิตของพี่น้องประชาชน แต่งบประมาณของกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงแรงงาน กลับไม่ได้รับการสนับสนุนทางด้านงบประมาณอย่างเต็มที่

3.เป็นร่างฯแผนงบประมาณที่ไม่มีวิสัยทัศน์ ขาดการคิดวางแผนงบประมาณในการวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเตรียมตัวให้ประเทศออกจากวิกฤต เช่น การเตรียมจัดงบที่สนับสนุน การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล การดูแลและฟื้นฟูงบประมาณให้ส่งเสริมกลุ่มธุรกิจ SME รายย่อยที่ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก แต่ในการจัดงบประมาณกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร งบสนับสนุนกองทุนส่งเสริม SMEs ถูกหั่นเกือบ 40% บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ถูกหั่น 23% ธนาคาร SMEs ถูกหั่น 18% นอกจากนี้ การสนับสนุนการฟื้นฟูกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจภาคบริการต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่กระทบกระเทือน และล่มสลายลงเพราะภาวะการระบาดของโควิด ภาพที่ผมไม่อยากเห็นคือในวันที่ประเทศต่างๆ รอบตัวเรา ขยับขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปข้างหน้าภายหลังจากฟื้นโรคโควิด ในขณะที่ประเทศไทยเรายังอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่พร้อมสำหรับการก้าวเดิน

4.เป็นร่างฯ แผนงบประมาณที่สะท้อนถึงความอ่อนด้อย ในด้านการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่น ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจว่า จะก้าวพ้นวิกฤตในอนาคตได้ ท่านจัดงบประมาณ ปี 2565 แบบชนเพดานทุกมิติ กระดิกตัวไม่ได้อีกแล้ว กู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มก็ไม่ได้อีกแล้ว เศรษฐกิจพัง ธุรกิจล่มสลาย เก็บภาษีได้น้อย ไม่รู้จักวิธีหาเงินเข้าประเทศ รู้จักแต่วิธีการกู้เพื่อนำมาใช้แบบไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่ก่อให้เกิดการหมุนของวงรอบทางเศรษฐกิจ ตนขอย้ำว่าการจัดงบประมาณเช่นนี้ และด้วยวิธีคิดที่ขาดยุทธศาสตร์ จะทำให้ GDP ของประเทศตกต่ำลง การจัดเก็บภาษีปี 2565 จะพลาดเป้ารุนแรงเป็นปีที่ 3 ต่อเนื่อง และจะเรื้อรังไปถึงปี 2566 จนไม่มีทางแก้ นอกจากจะออก พ.ร.ก.กู้เงินจำนวนมากอยู่ร่ำไป ภาวะดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นจนกระทั่งงบประมาณในอนาคตติดกับดัก ไม่มีทางออก เมื่อประกอบเข้ากับผลงานที่ล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาของประเทศ แผนงบประมาณของประเทศ ที่ถูกจัดขึ้นอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ในสภาวการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงเช่นนี้

จากนั้น เวลา 11.50 น. พลเอกประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงผู้นำฝ่ายค้านทันทีโดยยืนยันจะนำทุกข้อเสนอแนะไปพิจารณา แต่ยังมีหลายอย่างที่เข้าใจไม่ตรงกันโดยเฉพาะเรื่องตัวเลขการจัดทำงบประมาณ หากมองตัวเลขเพียงอย่างเดียว ก็จะมองว่าไม่เป็นธรรม ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ต้องมองถึงภาพรวม เพราะต้องแก้ปัญหาหลายอย่าง ส่วนเรื่องการจัดหาและการกระจายวัคซีน ยืนยันดำเนินการ ตามลำดับอย่างมีขั้นตอน ทุกประเทศก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะมีความต้องการวัคซีนเพิ่มมากขึ้น และประเทศไทยเองก็มีบริษัทที่เป็นฐานผลิตวัคซีน แต่ทุกอย่างมีขั้นตอนและแผนเตรียมพร้อมทั้งแผนหลักและแผนสำรอง จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องวัคซีนทั้งที่รัฐจัดหาและวัคซีนทางเลือก แต่ทั้งหมดยังต้องเป็นการนำเข้าแบบรัฐต่อรัฐ และยืนยันว่าภายในเดือนมิถุนายนนี้จะมีวัคซีนทยอยเข้ามาอย่างเพียงพอ

นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงข้อสงสัยเรื่องการจัดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ที่มากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ขอให้ดูในภาพรวมเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทำเรื่องบุคลากรงบประมาณประจำปีและการพัฒนากองทัพ ในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็มีการปรับลดงบประมาณของกลาโหมไปแล้วนับ 10,000 ล้านบาท ส่วนที่เป็นงบผูกพันก็มีความจำเป็นจะต้องจัดสรร และดำเนินการต่อในปี 2565 ขณะที่งบประมาณของกระทรวงสาธารณะสุข นอกจากงบประมาณประจำปีแล้วยังมีงบประมาณอีก 3 กองทุน คือ กองทุนประกันสังคม กองทุนแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนแพทย์แผนไทย รวมประมาณ 295,681 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2564 ลดลงเพียง 5,000 กว่าล้านบาท หรือ 1.7% เท่านั้น ในภาพรวมถือว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมนั้นมีน้อยกว่าสาธารณสุข

ทั้งนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะลุก ออกจากห้องประชุมได้ย้ำว่า การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างเข้มงวดรัดกุม รับฟังทุกเสียงสะท้อน และพร้อมตอบทุกคำถาม ซึ่งเป็นการทำงานในแบบของตนตามระบอบประชาธิปไตย ก่อนจะทิ้งท้ายว่าการทำงานภายใต้รัฐบาลของตนไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

logoline