svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทนายบิลลี่" ชี้ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับญัตติ

13 กุมภาพันธ์ 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทนายบิลลี่" ชี้ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับญัตติ "ไพบูลย์" ไว้พิจารณา ย้ำรัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ .

นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ส.ส. กทม.พรรคก้าวไกล กล่าวเชิญชวนให้จับตาศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญามาตรา 210 (2) หรือไม่ เพราะอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐสภาโดยแท้ และสามารถเปิดทางให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ได้ เพราะในอดีตเราทำมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง
โดยครั้งที่ 1 ในยุครัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา ที่มีนโยบายหาเสียงมาตั้งแต่ในช่วงการเลือกตั้ง ต่อมาพอตั้งรัฐบาลได้ ก็ออกคำสั่งนายก ฯ ตั้งคณะกรรมการปฎิรูปการเมือง ซึ่งมีผลสรุปว่าเสนอ 2 แนวทางคือ แก้รายมาตรา และแก้ไขทั้งฉบับ สุดท้ายคณะรัฐมนตรีเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมในแนวทางที่สองคือการแก้ไขทั้งฉบับ ซึ่งที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้โหวตรับหลักการ ทั้งนี้การเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา นั้นแค่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ แต่ไม่ได้มีการให้สามารถตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ และได้กำหนดให้มี สสร.ขึ้นในวาระที่ 2 โดยมีชัยอนันต์ สมุทวนิช เป็นประธาน จนสุดท้ายนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2534 ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 22 ตุลาคม ปี 2539 โดยแก้ไขหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 11 มาตรา 211 เพื่อเปิดช่องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 ปี 2539

"ทนายบิลลี่" ชี้ไม่มีเหตุผลใดที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับญัตติ


เช่น ในมาตรา 4 "ให้เพิ่มเติมความต่อไปนี้เป็นหมวด 12 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 211 ทวิ ถึงมาตรา 211 เอกูนวีสติ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ 2534" ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ส่วนครั้งที่ 2 ในยุครัฐบาลรัฐประหารที่มีการยึดอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 โดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ปี 2490 ซึ่งมีหมวด 7 ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 93 โดยไม่มีบทบัญญัติที่ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือให้มีการตั้ง สสร. จนสุดท้ายมีความต้องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ มี สสร. เมื่อมีปัญหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2490 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 23 มกราคม 2491 มีมาตรา 95 ทวิ และมาตรา 95 เบ็ญจ เขียนว่า "ให้มีสภาขึ้นสภาหนึ่งเรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ และให้มีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน"
นายจิรวัฒน์ กล่าวต่อว่า จะดูเพียงว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แสดงว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องดูประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยว่าเคยมีเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไว้อย่างไร ดังนั้นองค์กรรัฐสภาจึงทำหน้าที่เพียงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 และมาตรา 256(1) (9) เมื่อผ่านการพิจารณาวาระ 3 ก็นำไปลงประชามติ และเปิดทางให้มีการตั้ง สสร ส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ ไม่มีอำนาจเหมือนรัฐสภาในการออกพระราชบัญญัติ หรือทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จภารกิจก็สิ้นสุด องค์กร สสร. ก็จะถูกยุบสลายไปโดยปริยาย จึงไม่มีส่วนใดที่รัฐสภาใช้อำนาจที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการใช้อำนาจตามกรอบของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 255 และ 256 ทั้งสิ้น จึงไม่มีกรณีใดเลยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับคำร้องของนายไพบูรย์ นิติตะวัน ไว้พิจารณา

logoline