svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ฝ่ายค้าน"ย้ำชัดไม่ขอสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์

22 ธันวาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พรรคร่วมฝ่ายค้าน" แถลงย้ำจุดยืนไม่ร่วมสังฆกรรมคณะกรรมการสมานฉันท์ จี้รัฐจริงใจสร้างปรองดอง เลิกใช้กฎหมายคุกคามผู้เห็นต่าง ซัด "บิ๊กตู่" ทำหูทวนลม คนอื่นแนะนำแต่ทำนิ่งเฉย

22 ธันวาคม 2563 นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยเปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมหัวหน้าพรรคร่วมฝ่ายค้าน ว่า ที่ประชุมยืนยันมติเดิม คือ ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการ การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น

"ฝ่ายค้าน"ย้ำชัดไม่ขอสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์




ด้านนายธวัชชัย ตุลาธนเลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยในการสร้างความสมานฉันท์ แต่ต้องเข้าใจว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เกิดจากการรัฐประหาร ระบอบการเมืองที่นับวันยิ่งถอยห่างจากประชาธิปไตย การปฏิบัติข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความเกลียดชัง มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง และการใช้อำนาจผ่านกระบวนการกฎหมาย ที่ใช้ปราบปรามผู้ที่แสดงออกทางการเมือง ดังนั้น ต้องแก้ที่รากเหง้าของปัญหา และการจะสร้างความปรองดองได้ต้องยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เพราะไม่สามารถนำไปสู่การพูดคุยสร้างความปรองดอง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องไม่สร้างสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจอีก และยุติการสนับสนุนระบอบการเมืองที่มาจากรัฐประหาร

ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทาหัวหน้าพรรคประชาชาติ มองว่า รัฐบาลต้องแสดงออกอย่างจริงใจ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังแก้ไข จะต้องเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ไขความขัดแย้ง ต้องแก้ไขอำนาจของ ส.ว. และแก้ไขสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งจะเป็นทางออกของปัญหาได้



"ฝ่ายค้าน"ย้ำชัดไม่ขอสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์

ส่วนนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ส.ส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ กล่าวเสริมว่า รัฐบาลยังไม่มีความจริงใจ ซึ่งดูจากรายชื่อที่รัฐบาลส่งเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์ ชัดเจนว่าจะเป็นการสร้างความแตกแยกยิ่งขึ้น การส่งตัวแทนของรัฐบาลต้องมีความจริงใจ ไม่ใช่สร้างความแตกแยกมากขึ้น ดังนั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอไม่เข้าร่วม เพราะหากเข้าร่วมจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาล

นายนิคม บุญวิเศษส.ส.บัญชีรายชื่อหัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย กล่าวว่า การสร้างความปรองดองนั้นสามารถทำได้ โดยการเริ่มจากผู้นำ แม้ที่ผ่านมาจะพยายามเข้ามาเพื่อสร้างความปรองดอง แต่ก็ยังไม่เห็นความจริงใจ และเห็นว่า นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ควรเข้ามาร่วมในคณะกรรมการเชื่อจะช่วยสร้างความปรองดองได้ แต่การตั้งกรรมการครั้งนี้ ไม่เกิดประโยชน์ และเป็นการยื้อเวลาให้รัฐบาลมากกว่า

ขณะที่พ.ต.อ.ทวี สอดส่องส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคประชาชาติ ตั้งข้อสังเกตว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หากมองในมุมของระบอบประชาธิปไตย เป็นการลดทอนอำนาจประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ความเสมอภาค และความเท่าเทียม เพราะการที่จะปรองดองได้ต้องเปิดให้ประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วม และเห็นว่าการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ครั้งนี้ เป็นการพยายามผลัดภาระไปให้ประธานรัฐสภา เพราะที่ผ่านมาสมาชิกรัฐสภาเคยแนะทางออกให้นายกรัฐมนตรีแล้ว แต่นายกฯเพียงรับฟัง แต่ไม่ทำตาม


"ฝ่ายค้าน"ย้ำชัดไม่ขอสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านยังได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง "คณะกรรมการสมานฉันท์" โดยมีใจความดังนี้

การดำเนินงานของรัฐบาลในปัจจุบันไม่สามารถนำไปสู่ทางออกของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมิได้ทำให้สังคมเชื่อมั่นได้ว่าตั้งใจจริงกับการแก้ไขปัญหา รวมทั้งยังใช้กฎหมายที่ทำให้ฝ่ายเห็นต่างที่เป็นคู่ขัดแย้งรู้สึกว่ารัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อกำจัดตน ซึ่งถือเป็นการทำลายบรรยากาศการร่วมมือและปรองดอง และรัฐบาลยังไม่เปิดใจรับฟังที่จะแสวงหาจุดร่วมเพื่อช่วยกันคลี่คลายปัญหา เท่ากับรัฐบาลได้ปิดกั้นหนทางการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง
ความพยายามของประธานรัฐสภาที่พยายามจะสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น โดยที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี และกลุ่มผู้เห็นต่างกับรัฐบาลซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงไม่เข้าร่วม คณะกรรมการชุดนี้จึงไม่สามารถเป็นความหวัง ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้

คกก.สมานฉันท์ ที่จะสามารถเป็นทางออกได้นั้น ต้องเริ่มต้นจากคู่ขัดแย้งต้องเห็นความสำคัญ และทั้งสองฝ่ายต้องตัดสินใจที่จะเข้าร่วม เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกของการเริ่มต้นกระบวนการปรองดอง ทั้งสองฝ่ายต้องพร้อมที่จะนำความขัดแย้ง และความจริงที่เป็นประเด็นปัญหาความขัดแย้งมาคุยกันบนโต๊ะเจรจาโดยมีคนกลางเข้าร่วม ภายใต้บรรยากาศแห่งการปรองดองสมานฉันท์

ซึ่งปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นจริงใน คกก.สมานฉันท์ชุดนี้
"พรรคร่วมฝ่ายค้านจึงขอยืนยันว่า จะไม่เข้าร่วม คกก.สมานฉันท์ จนกว่ารัฐบาลและคู่กรณีความขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้าร่วม และรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดอง ด้วยการยุติการคุกคาม และยุติการจับกุม คุมขังผู้เห็นต่าง ยกเลิกการตั้งข้อหากับผู้ชุมนุม อย่างขาดหลักแห่งความยุติธรรม"
แนวทางแก้ไขวิกฤติครั้งนี้ที่เหมาะสมที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกสำคัญของการแก้ไขปัญหา รัฐบาลต้องทำให้สังคมยอมรับว่ามีความตั้งใจและจริงใจที่จะสร้างความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง เพราะความเป็นประชาธิปไตยคือกลไกสำคัญที่ทุกฝ่ายจะยอมรับ และสร้างให้เกิด "ความเชื่อมั่น" และคือหนทางสำคัญในการคลี่คลายทุกปัญหาของสังคมไทย
รัฐบาลควรแสดงความจริงใจโดยเร่งหาวิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นอำนาจของ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และยอมรับให้เกิดกระบวนการเลือก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อใจว่า พวกตนไม่ต้องการสืบทอดอำนาจ และต้องการถอยออกจากอำนาจอย่างแท้จริง เพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจกำหนดกฎกติกาให้เป็นประชาธิปไตย เพื่ออนาคตด้วยมือของประชาชนเอง
22 ธันวาคม 2563


"ฝ่ายค้าน"ย้ำชัดไม่ขอสังฆกรรมคกก.สมานฉันท์

logoline