svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

รัฐสภาประกาศผลทางการรับร่างแก้รธน.ฉบับ1-2ที่เหลือตีตกหมด

18 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 1-2 ส่วนที่เหลือตีตกหมด ขณะที่ "ณัฏฐพล-ชุมพล-พุทธิพงษ์" โหวตสวนมติวิปรัฐบาล ด้าน 3 ส.ว.ลงคะแนนหนุนร่างไอลอว์ ส่วนฝ่ายค้านพร้อมเพรียงรับ 7 ร่าง

18 พฤศจิกายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 19.15 น. นายชวน หลีกภัยประธานรัฐสภาประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการ

ร่างฉบับที่ 1 มีมติเห็นด้วย 576 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และงดออกเสียง 123 เสียง

ร่างฉบับที่ 2 มีมติเห็นด้วย 647 เสียง ไม่เห็นด้วยรับ 17 เสียง และงดออกเสียง 55 เสียง

ร่างฉบับที่ 3 มีมติเห็นด้วย 213 เสียง ไม่เห็นด้วย 35 เสียง และงดออกเสียง 472 เสียง

ร่างฉบับที่ 4 มีมติเห็นด้วย 268 เสียง ไม่เห็นด้วย 20 เสียง และงดออกเสียง 432 เสียง

ร่างฉบับที่ 5 มีมติเห็นด้วย 209 เสียง ไม่เห็นด้วย 51 เสียง และงดออกเสียง 460 เสียง

ร่างฉบับที่ 6 มีมติเห็นด้วย 268 เสียง ไม่เห็นด้วย 19 เสียง และงดออกเสียง 432 เสียง

ร่างฉบับที่ 7 มีมติเห็นด้วย 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 39 เสียง และงดออกเสียง 369 เสียง

ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า แม้ผลการลงมติร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นไปตามมติวิปรัฐบาล ในการโหวตรับหลักการในร่างที่ 1 และ 2 และงดออกเสียงในร่างที่เหลือ ทว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนโหวตสวนมติวิปรัฐบาล อาทิ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรมว.ศึกษาธิการ ลงมติไม่รับหลักการทั้ง 7 ฉบับ

ขณะเดียวกัน นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตแกนนำ กปปส. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ลงมติไม่รับร่างทั้ง 7 ฉบับ รวมถึง นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ลงมติงดออกเสียงร่างที่ 1 และ 2 ส่วนอีก 5 ร่างที่เหลือลงมติไม่รับหลักการ

ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคภูมิใจไทยลงมติตามมติวิปรัฐบาล แต่มีบางส่วนลงลงคะแนนสวนในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ นายศุภชัย ใจสมุทร และนายศุภชัย โพธิ์สุ ที่ลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์

ส่วน นายมงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ได้โหวตสวนมติวิปรัฐบาล โดยลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง

ส่วนการลงมติของ ส.ว. ส่วนใหญ่ลงมติรับหลักการในร่างที่ 1 และ 2 เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนอีก 5 ร่าง มีโหวตแตกกันออกไป แต่ก็ยังไม่เพียงพอจำนวน 1 ใน 3 ที่จะรับหลักการทั้งในร่างแก้ไขรายมาตรา และร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ส.ว.สายทหารหลายคน โหวตไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ มี ส.ว.เพียง 3 คน เท่านั้น ลงมติเห็นชอบรับหลักการร่างของไอลอว์ คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายพีระศักดิ์ พอจิต และนายพิศาล มาณวพัฒนา

สำหรับการลงมติของฝ่ายค้าน เป็นไปตามมติวิปฝ่ายค้าน คือ รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ ยกเว้น นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กรุงเทพ และน.ส.พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานีพรรคเพื่อไทย ที่ไม่ร่วมโหวตในห้องประชุม แต่ไม่ได้แจ้งลา ซึ่งทั้ง 2 คนถูกพรรคแบนไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามมติพรรค

ส่วน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ขานมติรับหลักการทั้ง 7 ฉบับ พร้อมชู 3 นิ้ว ขณะที่ขานรับร่างของไอลอว์

logoline