svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุรชัย"รับผิดหวังผลกมธ.ศึกษาแก้รธน.เหตุไร้บทสรุปปัญหา

17 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย" รับผิดหวังผลการศึกษา กมธ. ไม่มีบทสรุปปัญหาการแก้ไข รธน. ย้ำกระบวนการต้องถูกต้องตาม รัฐธรรมนูญ พร้อมยกงานวิชาการชี้แก้ ม.256 ต้องการสถาปนากฎหมายขึ้นมาใหม่ ยันยินดีปิดสวิตซ์ตัวเองยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ-ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

17 พฤศจิกายน 2563 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวระหว่างการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ โดยยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังกับรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา เพราะรายงานไม่มีบทสรุป เป็นเพียงความเห็น 2 แนวทาง ทำให้สมาชิกหลายคนไม่สามารถหาคำตอบและบทสรุปได้ 

ทั้งนี้ มองว่าต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ เนื้อหาและกระบวนการพิจารณา แม้เนื้อหาจะดีแต่หากกระบวนการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมด จึงมีเจตนาต้องการเห็นกระบวนการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในอนาคต ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ส่วนประเด็นข้อถกเถียงสำคัญ คือ ขอบเขตการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้การแก้ไขทุกมาตรา โดยยกเว้นหมวด 1 และ 2 จะถือว่าไม่ได้การแก้ไข แต่เมื่อกมธ.ไม่มีข้อสรุป จึงไปศึกษาข้อมูลทางวิชาการโดยพบดุษฎีนิพนธ์ของนายวศิน ยิ้มแย้ม นักวิชาการด้านนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร (นิด้า) เรื่องปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พบว่าการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญง่ายขึ้น เพื่อยกร่างขึ้นมาใหม่ ลดอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่น เพิ่มอำนาจองค์กรตัวเอง 

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ซึ่งการแก้ไขดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ เพราะทำลายหลักการรัฐธรรมนูญเดิม และเอกสารจุลนิติของวุฒิสภา ประจำเดือน ก.ค.-ส.ค. 2557 มีบทสัมภาษณ์รองศาสตราจารย์ในคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุชัดเจนว่าอำนาจการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กับอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นคนละส่วนกัน โดยองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีอำนาจจำกัดเท่าที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญเขียนไว้ และยังไม่รวมความเห็นทางวิชาการอื่นๆ ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยแนวทางที่ 2 ของรายงานกมธ. ก็สอดคล้องกับงานวิชาการเหล่านี้

นายสุรชัย กล่าวต่อว่า ส่วนตัวยินดีรับฟังทุกความเห็น ต้องการความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แต่เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว ก็ต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง รวมถึงการออกเสียงประชามติ ก็ยังมีข้อถกเถียงกัน ทั้งหมดจึงวนกลับมาที่กมธ. เพื่อหาคำตอบให้ทุกคนสามารถตัดสินใจบทหลักการที่ถูกต้อง เป็นไปตามหลักการของวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากคำตอบของกมธ.ยังไม่กระจ่างชัดอย่างเพียงพอ ก็จะเห็นชอบเฉพาะกรณีแก้ไขรายมาตรา 3 ญัตติ ที่ฝ่ายค้านเสนอมาเท่านั้น"ผมยินดีจะตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และสละอำนาจติดตามการปฏิรูปประเทศ เห็นชอบและไม่ขัดข้องหลักการแก้ไขระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตร 2 ใบ เพื่อแสดงให้เห็นว่าวุฒิสภาไม่ได้ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมรับฟังทุกกระแสเรียกร้อง และหาทางออกให้ดี รวมถึงขอให้การตัดสินใจของสมาชิกเป็นไปโดยอิสระ อย่ากดดัน คุกคาม ข่มขู่ เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นประเทศชาติที่ดีกว่าเดิม และหากต้องการตั้ง สสร. ก็ควรออกเสียงประชามติก่อน ควบคู่ไปกับการแก้ไขรายมาตรา" นายสุรชัย กล่าว

logoline