svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สมชาย"หนุนโครงสร้างคกก.สมานฉันท์มาจากทุกฝ่ายร่วมหาทางออก

03 พฤศจิกายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมชาย แสวงการ" หนุนรูปแบบที่ 1 ใช้เป็นโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ ย้ำเพราะรวมทุกฝ่ายพูดคุยหาทางออก ค้านถกปฏิรูปสถาบันฯ เหตุยังไม่ใช่เรื่องจำเป็น เห็นด้วยแก้รธน.ตัดสิทธิวุฒิสภาเลือกนายกฯ-ระบบเลือกตั้ง รับแล้วแต่ดุลยพินิจส.ว.แต่ละคนลงมติมาตรา 256

3 พฤศจิกายน 2563 นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า โครงสร้างคณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ส่วนตัวสนับสนุนให้ใช้รูปแบบที่ 1 คือ คณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่าย รวม 7 ฝ่าย เพื่อเปิดให้ทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ รวมถึงตัวแทนผู้ชุมนุม ฝ่ายเห็นต่างกับผู้ชุมนุม และนักวิชาการทุกแนวคิด ซึ่งบางเรื่องต้องเป็นการพูดคุยกันภายใน เพราะการเจรจากันผ่านการถ่ายทอดสดเหมือนปี 2553 ไม่สำเร็จ 

นายสมชาย กล่าวต่อว่า ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ รูปแบบคณะกรรมการจากคนนอก ก็เป็นอีกรูปแบบที่มีความเป็นไปได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการชุด นายคณิต ณ นคร หรือชุด นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ที่เป็นคณะกรรมการจากคนนอก ทั้งหมด แม้มีรายงานผลสรุปที่ดี แต่ถูกเลือกใช้แค่บางประเด็นเท่านั้น เพราะไม่สามารถผูกมัดเป็นฉันทามติให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามได้ 

สำหรับบางฝ่ายที่ระบุว่า จะต้องมีการหารือกันเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันฯ ในคณะกรรมการชุดนี้นั้น หากจะพูดในเวทีวิชาการสามารถทำได้ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะหลายเรื่องที่จำเป็นต้องปฏิรูป ทั้งการเมือง การยุติธรรม การศึกษา ก็ยังไม่มีการปฏิรูป ซึ่งตนเองเห็นด้วยกับข้อเสนอหลายอย่างของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เช่น ยกเลิกสายสาขาวิชา หรือการปรับเรื่องทรงผม และหวังให้นักเรียนนิสิต นักศึกษา เคลื่อนไหวตรวจสอบการคอรัปชั่นในทุกระดับ แต่เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ หากจะพูดคุยกันหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ 

"สมชาย"หนุนโครงสร้างคกก.สมานฉันท์มาจากทุกฝ่ายร่วมหาทางออก


อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาประเทศตามข้อเรียกร้อง แม้นายกรัฐมนตรีลาออก ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะมีหลายเรื่องต้องแก้ปัญหาก่อน เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่รัฐสภาช่วงกลางเดือนนี้ ส่วนตัวให้ความเห็นไปว่า หากจะแก้ไขรายมาตรา เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เช่น กรณียกเลิก ส.ว.ลงมติเลือกนายกฯ หรือการแก้ไขระบบเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กระแสที่บอกว่า ส.ว. มีแนวโน้มเห็นชอบหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) นั้น ซึ่งการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังมีปัญหาที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไม่สามารถบอกแนวโน้มการลงมติมาตรา 256 เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ของ ส.ว. แต่ละคนในการลงมติ

logoline