svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปิยบุตร"ย้ำ"บิ๊กตู่"ต้องออกสภาฯนำ3ข้อเรียกร้องไปหารือ

22 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปิยบุตร แสงกนกกุล" เรียกร้อง "ประยุทธ์" ลาออก จี้สภาฯต้องนำ 3 ข้อเรียกร้องไปถกเถียงอย่างมีวุฒิภาวะ ย้ำอย่าเทน้ำมันบนกองไฟ ชี้การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องใช้ประชาธิปไตย และเปิดพื้นที่พูดคุยไม่ใช่จัดการผู้เห็นต่างด้วย

22 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดเวทีเสวนา "ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และในฝรั่งเศสกับในไทย"ณ ห้องริมน้ำ 107

โดยนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของประชาชนและแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ปฏิกิริยาของนายกฯ น้อยเกินไปและสายเกินไปทุกครั้ง ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกฯมา มีเสียงเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่สนใจ เอาไปเขียนในนโยบายรัฐบาลหนึ่งบรรทัด พอมีเสียงเรียกร้องขึ้นอีก ก็ไปตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเป็นปีแทน

นายปิยบุตร กล่าวว่า ต่อมาเมื่อกระแสเรียกร้องมากขึ้นอีก ก็ยอมให้แก้รัฐธรรมนูญในแบบที่ตัวเองได้ประโยชน์ เพื่อซื้อเวลาต่อไป จนมาถึงในวาระหนึ่ง ก็ยังไม่ยอมโหวต ดึงดัน ให้ตั้ง กมธ. ศึกษาต่ออีกรอบ ถ้าหากมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจริง ก็ต้องทำทันที ไม่ใช่ยื้อเวลาแบบนี้ เวลานายกฯบอกว่าทำตามข้อเสนอแล้ว นั่นเป็นเพียงการทำเพียง 1/4 ซึ่งถือว่าทำน้อยไป และทำช้าไป

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า หากรัฐสภา รัฐบาล สถาบันการเมืองในระบบมีความจริงใจในการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ประชาชนก็ไม่จำเป็นต้องไปอยู่บนท้องถนน ทุกวันนี้ (22ต.ค.) ที่ประท้วงกัน ก็เพราะประชาชนเรียกร้องกันมาเป็นปี แต่การเมืองในระบบไม่เคยตอบสนองข้อเรียกร้อง จึงเป็นธรรมดาที่ต้องหันไปใช้เสรีภาพในการแสดงออกผ่านการชุมนุมสาธารณะ

"ยกตัวอย่างข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก ข้อนี้สามารถทำได้เลย ซึ่งการแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ หรือ Too little, Too late คือ น้อยเกินไปและช้าเกินไป หากพล.อ.ประยุทธ์ลาออกก่อน บรรยากาศจะดีขึ้น เพราะแคนดิเดตนายกฯ ยังมีอีกหลายคน ในสภาฯ การแก้รัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ในวาระหนึ่ง รีบนำมาโหวตให้ผ่านได้เลย ส่วนการปฏิรูปสถาบันฯ ก็นำมาอภิปรายกันอย่างมีวุฒิภาวะ ถ้อยทีถ้อยอาศัย เข้าอกเข้าใจ ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและเห็นต่างในสภาฯ สถาบันการเมืองในระบบยังทำงานได้อยู่ หากมีความจริงใจในการแก้ปัญหา" นายปิยบุตร กล่าว

เมื่อถามว่า หากนายกฯลาออกจะทำให้รัฐบาลพ้นไปทั้งคณะอาจกระทบต่อกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังทำอยู่ได้ เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า การลาออกของนายกฯ ต้องเอาความตั้งใจมานำ อย่าเอาเทคนิคกระบวนการมานำ ไม่อย่างนั้นจะเอาเทคนิคกระบวนการมา เป็นข้ออ้างทำลายความตั้งใจเสมอ สมมติหากกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญในสภาฯ จะพังหมดเพราะนายกฯ ลาออกก็ไม่เห็นเป็นอะไร หากมีความตั้งใจที่จะแก้จริง รัฐบาลใหมก็รีบผลักดันเข้าไปได้อีก มันอยู่ที่เจตจำนง ถ้าเจตจำนงจะทำจริงๆ เทคนิคกระบวนการทุกอย่างทำได้หมด



"ปิยบุตร"ย้ำ"บิ๊กตู่"ต้องออกสภาฯนำ3ข้อเรียกร้องไปหารือ



นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่ายกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เป็นการถอยปัญหา คือไม่ควรจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ ผู้ที่ติดตามการชุมนุมมาโดยตลอดต้องยอมรับว่าแกนนำการชุมนุม มีทักษะบริหารจัดการชุมนุมได้ดี ไม่มีการปะทะ หากไม่อยากให้มีการชุมนุมบนท้องถนน การเมืองในระบบต้องแก้ปัญหาให้ประชาชน

"เขาตะโกน พูดแสดงออกอะไร หากเห็นแล้วขัดเคือง ระคายหู ไม่สบายใจ ก็ต้องสร้างเวทีปลอดภัยให้พูดในสภาฯ แต่นี่กลับไปจับแกนนำหมด ดำเนินคดีหมด ก็ยิ่งไม่พอใจ ยิ่งเดือดกันใหญ่ ผมอยากให้ฝ่ายที่มีอำนาจลองกลับไปทบทวนดูว่า ในที่สุดจะเอาอย่างไร อยากให้รัฐบาลแสดงออกซึ่งความจริงใจในสัปดาห์หน้า ยังพอมีโอกาสอยู่ผมไม่รู้ว่าท่านจะอยู่อีกนานไปเพื่ออะไร ท่านอยู่มาแล้ว 6 ปี ท่านต้องยอมรับว่าท่านเป็นตลอดชีวิตไม่ได้ ท่านเป็นนายกฯยาว 20 ปี ตามภาพฝันของท่านไม่ได้" เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าว

ทั้งนี้ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็มีเยอะ แคนดิเดตของพรรคฝ่ายค้านก็มีอยู่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออกไปก่อน สร้างรัฐบาลใหม่ว่ากันตามกระบวนการที่มีอยู่ เพื่อมาเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบปกติ มาแก้รัฐธรรมนูญให้จบ แล้วออกไป กลับไปสู่การเลือกตั้ง แต่หากมีนายกฯคนใหม่ หลังพล.อ.ประยุทธ์ลาออก คนที่เข้ามาต่อจากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องตระหนักตั้งแต่วันแรกว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่เข้ามาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบปกติเท่านั้น จากนั้นต้องกลับไปสู่สนามการเลือกตั้งเพื่อแข่งขันกันใหม่

ส่วนการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อหาทางออกสถานการณ์การเมืองในวันที่ 26-27 ต.ค.นี้ อยู่ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีความจริงใจกับข้อเรียกร้องของประชาชนแค่ไหน คือ เปิดสภาฯ มาเพื่อแก้ไขปัญหาจริงๆ หรือเปิดสภาฯ มาเพื่อช่วยนายกฯ ในการลดกระแสการชุมนุม ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องตอบประเด็นนี้ให้ชัดหากต้องการแก้ไขปัญหา ต้องเอาข้อเรียกร้องของการชุมนุมทั้ง 3 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการลาออกจากตำแหน่งของนายกฯ การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การปฏิรูปสถาบันฯ ไปพูดในสภาฯทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเปิดสภาฯไปแล้ว ปล่อยให้ ส.ส. จากฝั่งรัฐบาล และ ส.ว. มานั่งถล่มนิสิต นักศึกษา ประชาชน ถ้าทำกันแบบนี้จะไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่จะเป็นการเทน้ำมันบนกองไฟอีก ต้องไม่ลืมว่า เดือนที่แล้วตอนโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระหนึ่ง ก็ทำแบบนี้กันไปแล้วครั้งหนึ่ง อย่าทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธากับรัฐสภาไทยไปมากกว่านี้



เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าประเด็นปัญหาเรื่องสถาบันฯ ถูกยกขึ้นมาพูดโดยผู้ชุมนุม นิสิต นักศึกษา และเป็นปัญหาของการเมืองไทย ดังนั้น มีวิธีแก้อยู่ 2 วิธี คือ วิธีที่หนึ่ง ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วนำมาหาทางออก วิธีที่สอง คือ ทำไม่รู้ ไม่เห็น ไม่พูดถึง ฆ่า จับ ปราบ เพื่อให้หยุดพูด

"ผมคิดว่าคนทั่วไปมองออกว่า วิธีที่สองไม่ได้ผล หากดึงดันที่จะใช้วิธีที่สองต่อไป ผมกังวลว่าจะยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมาก จะมีทัศนคติในแง่ลบต่อสถาบันฯมากขึ้นเรื่อยๆ เขาแสดงออกได้หรือไม่ ไม่รู้ แต่หากจะจัดการกับพวกเขาแบบนี้ ต่อๆไปเขาจะมีทัศนคติแง่ลบกับสถาบันฯ แน่นอน ต้องยอมรับความเป็นจริงแล้วนั่งคุยกัน นี่คือวิธีเดียวที่จะปกป้องสถาบันฯ เอาไว้ได้ในศตวรรษที่ 21"

อย่างไรก็ตาม วิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยการเกณฑ์มวลชนมาใส่เสื้อสีเดียวกันหมด ไปแสดงกิริยาอาการ รุมทำร้ายอย่างเมื่อวาน (21ต.ค.) ที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรามคำแหง คิดว่าสถาบันฯจะได้ความนิยมชมชอบเพิ่มขึ้นหรือ นี่หรือวิธีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ บางคนบอกว่าไม่เป็นไร จะขอปกป้องในรุ่นของตนเอง แต่การพูดแบบนี้ถือว่าเห็นแก่ตัว เพราะการจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่ตลอดในประเทศไทยมีแต่วิธีการเสรีภาพ ใช้ประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น ทำความเข้าใจกับข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เท่านั้น

logoline