svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ภาคเอกชนหนุนรัฐ-ม็อบ 'เจรจา' หาทางออกให้ประเทศ

19 ตุลาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เอกชนหวั่น ม็อบชุมนุมเน้นพื้นที่เศรษฐกิจทั่วกรุง สภาหอการค้า-สภาอุตสาหกรรม-สภาผู้ส่งออกยอมรับประชาชนออกมาชุมนุมมากกว่าที่คาด ส่งผลกระทบธุรกิจและความเชื่อมั่นนักลงทุน จี้รัฐเร่งเจรจาหาทางออกหวั่นยืดเยื้อ

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจกลางกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อธุกิจในพื้นที่และประชาชน ซึ่งการชุมนุมทางการเมืองทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ซึ่งการที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมสถานการณ์ก็เป็นเครื่องมือในการควบคุมการชุมนุมเป็นหลัก 
ทั้งนี้ภาคเอกชนกังวลว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อบานปลาย และหากชุมนุมแบบดาวกระจายไปพื้นที่เศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งกังวลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชนทั่วไป เพราะสถานการณ์แบบนี้ไม่รู้ว่าใครเป็นใครหรืออาจมีมือที่ 3 สร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรุนแรง
ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลออกมาตรการหลายด้านเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยวในประเทศและดึงการลงทุน ซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายต่างที่ออกมาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ท่ามกลางวิกฤต โดยขณะนี้ทุกอย่างเริ่มไปได้ดี เศรษฐกิจเริ่มฟื้น การปลดคนงานเริ่มน้อยลง
ส่วนสภาผู้แทนราษฎรได้หารือการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมจึงควรรอฟังก่อน และเป็นกระบวนการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ดังนั้นการชุมนุมทางการเมืองอาจจะทำให้ไทยเสียโอกาสหลายด้าน เพราะต่างชาติไม่มั่นใจเสถียรภาพทางการเมืองไทย โดยเฉพาะการชุมนุมแบบดาวกระจายยิ่งเสี่ยงมากขึ้นทำให้ความเชื่อมั่นทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นจุดที่น่าเป็นห่วง
"นักลงทุนต่างชาติอยากมาลงทุนในไทย แต่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ นักลงทุนก็ไม่มา หันไปลงทุนประเทศอื่นแทน โดยเฉพาะเวียดนามจึงทำให้ไทยเสียโอกาส" นายกลินท์ กล่าวส.อ.ท.เสนอ2ฝ่ายหารือทางออก
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นกระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนบ้าง เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมีมากกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้ภาคธุรกิจในประเทศและต่างประเทศต้องจับตาเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้น และติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะขยายผลอย่างไรบ้าง และรัฐบาลจะมีทางออกเรื่องนี้อย่างไร 
ทั้งนี้ การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นมีบางส่วนคล้ายกลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงที่เกิดจากคนรุ่นใหม่และชุมนุมต่อเนื่องลักษณะแฟรชม็อบ แต่ต่างกันเรื่องความรุนแรงเพราะในไทยยังไม่รุนแรงถึงขั้นทำลายทรัพย์สินและร่างกายเหมือนที่ฮ่องกง ซึ่งรัฐบาลต้องระวังมือที่ 3 ที่จะสร้างความรุนแรงและหากสถานการณ์บานปลายจะกระทบต่อความเชื่อมั่นรุนแรง
สำหรับทางออกอยากให้รัฐบาล และผู้ประท้วงหันหน้าเข้ามาหารือหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธีอย่างมีเหตุมีผล โดยรัฐบาลต้องนำข้อเสนอผู้ชุมนุมมาพิจารณาว่าสิ่งใดร่วมกันแก้ไขได้ และสิ่งใดแก้ไขไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องสถาบันที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพสถาบันและต้องอยู่คู่ประเทศตลอด 

ดังนั้นรัฐบาลควรฉวยวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสหารือกับผู้ประท้วงร่วมมือแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจมีจุดบกพร่อง รวมทั้งร่วมกันแสวงหากลไกตรวจสอบภาครัฐในทุกระดับ สร้างกลไกการถ่วงดุลอำนาจ ปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้สังคม ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มคนรุ่นใหม่รู้สึกมั่นใจในอนาคตมากขึ้น รวมทั้งสถานการณ์จะทยอยคลี่คลาย ซึ่งต้องใช้เวลาและความอดทนในการหันหน้าเข้าหากัน และเจรจาให้ถึงจุดที่ร่วมมือกันได้ รวมทั้งรัฐบาลจะได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายในสังคมมากขึ้น โดยการเจรจาอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาได้ทันทีแต่ช่วยผ่อนคลานสถานการณ์ที่ร้อนแรงให้อุ่นลง แม้จะไม่เย็นแต่ก็อยู่ร่วมกันได้ทุกฝ่าย และจะทอยคลี่คลายได้ในอนาคต
"เยาวชนและคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะมาบริหารประเทศต่อจากรุ่นเรา ดังนั้นควรรับฟังและแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเอาปัญหาเป็นที่ตั้งและใช้ความจริงใจการแก้ไข การชุมนุมประท้วงครั้งนี้ไม่เหมือนในอดีตที่แบ่งแยกสีต่อสู้กันทางการเมือง แต่ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่เห็นขัดแย้งกับระบบ ซึ่งเราไม่สามารถหลีกหนีไปได้เพราะต้องอยู่ร่วมกัน และคนกลุ่มนี้จะเข้ามาแทนเรา ดังนั้นจึงควรใช้วิธีสันติหันเหน้าเจรจาแก้ปัญหาร่วมกันให้ถึงที่สุด"
ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าคนไทยมีจิตใจดีจะช่วยประคองและหลีกเลี่ยงความรุนแรงได้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายต้องเปิดใจพูดคุยอย่างจริงใจและเร่งแก้ไขปัญหา โดยอะไรที่แก้ไขได้เลยต้องทำทันที ส่วนอะไรที่ต้องใช้เวลาก็ทยอยดำเนินการ และอะไรที่อ่อนไหวต้องมีจุดยืนที่ชัดเจนแตะต้องไม่ได้ หากทุกฝ่ายร่วมกันเดินในแนวทางนี้เชื่อว่าประเทศจะผ่านวิกฤตินี้ได้

logoline