svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กมธ.กฎหมายฯย้ำแก้กม.ไม่เป็นธรรมที่เกิดจากคณะปฏิวัติ

12 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กมธ.กฎหมายฯ เปิดสัมมนา "ความยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน" ขณะที่ "สิระ เจนจาคะ" ย้ำกรรมาธิการทำงานไม่อิงพรรคการเมือง เตรียมหารือยกเลิกกฎหมายจากคณะปฏิวัติ ด้าน "รังสิมันต์ โรม" ฉะนายกฯคงฉุกเฉินหวังฉวยโอกาสให้เจ้าหน้าที่รังแกผู้ชุมนุม โดยไม่สามารถเอาผิดได้ พร้อมลุ้นส.ว.จะผ่านวาระแรกแก้รัฐธรรมนูญให้หรือไม่

(12 กันยายน 2563)คณะกรรมาธิการการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดสัมมนา "ความยุติธรรมภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยมีนายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กรุงเทพ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธาน กมธ. เป็นประธานพิธีเปิด โดยมีนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษก กมธ. เข้าร่วมที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยนายสิระ กล่าวว่า การสัมมนาวันนี้ (12ก.ย.) เป็นหัวข้อที่ดีและสำคัญ อีกทั้ง เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจะได้รู้ว่า ทำไมต้องมี พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งวันนี้จะได้ระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนเพื่อเป็นประโยชน์กับประชาชน และกมธ.จะได้นำกลับไปพิจารณาใน กมธ. ต่อไป

ทั้งนี้ กมธ. มี ส.ส. 15 คน ซึ่งมาจากหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่เวลาทำงานในฐานะกมธ. ได้มีการยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ และหากดูจากผลงานที่ผ่านมาตามหน้าสือ จะเห็นว่าผลงานของกมธ. มีการทำงานอย่างอิสระ ไม่อยู่ภายใต้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง และหากวันนี้มีความคิดเห็นที่จะให้กมธ.ขับเคลื่อนไปในทิศทางใดก็รวบรวมแล้วส่งมาได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวได้คุยกับกมธ.มาโดยตลอด ว่าในเมื่อมีรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว และมีสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ดังนั้น กฎหมายที่เกิดจากคณะปฏิวัติในอดีตที่ล้าสมัย ไม่เป็นธรรม จะต้องมีการแก้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่ ว่าจะทำการยกเลิกอย่างไร ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่น กมธ. ที่มาจากตัวแทนประชาชน

ขณะที่ นายรังสิมันต์ กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ "สถานการณ์ฉุกเฉินของใคร" ถึงปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ว่า โดยปกติแล้วการออก พ.ร.ก. ของรัฐบาล จะต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ให้มีสถานะเทียบเท่า พ.ร.บ. ที่ผ่านการเห็นชอบจากสภาฯ ซึ่งพ.ร.ก. เป็นการใช้กฎหมายชั่วคราวของรัฐบาล ที่ใช้ในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน แต่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนี้ เป็นอำนาจตรงของนายกรัฐมนตรี ที่ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้

ทั้งนี้ ส่วนตัวและพรรคก้าวไกล จึงเข้าชื่อเสนอให้มีการยกเลิกการใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ โดยให้อำนาจนายกฯ ในฐานะฝ่ายบริหาร มีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ได้ไม่เกิน 30 วัน และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นต่อสภาฯ เพื่อให้สภาฯ มีอำนาจตรวจสอบ ซึ่งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และหลังประกาศใช้แล้ว รัฐบาลต้องทำรายงานผลการทำงานต่อสภาฯด้วย

"เพราะการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จริงๆ แล้วก็เพื่อบริหารสถานการณ์ โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน และที่ผ่านมามีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว 7 ครั้ง นอกจากปัญหาชายแดนใต้ส่วนใหญ่ ใช้สำหรับการควบคุมการชุมนุมทางการเมือง โดยเรื่องตั้งแต่การควบคุมกลุ่มพันธมิตรฯ ในรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และ รัฐบาล นายสมชาย วงสวัสดิ์ รวมทั้ง การควบคุมกลุ่มคนเสื้อแดง ในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และการควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายรังสิมันต์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็ไม่ถือว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้สำเร็จ หนำซ้ำยังนำมาซึ่งความรุนแรงในหลายเหตุการณ์ เช่น การสลายชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ซึ่งเชื่อว่ากลความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควรเป็นกรณีเหตุการณ์ก่อการร้าย อย่างในต่างประเทศ ไม่ควรใช้ต่อการชุมนุมทางการเมือง เพราะไม่มีการชุมนุมครั้งไหนต้องการใช้ความรุนแรง แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มาจากการใช้อำนาจไปสลายการชุมนุม ดังนั้น หากไม่ต้องการเห็นความรุนแรงในการชุมนุม รัฐจะต้องไม่ใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม

สำหรับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์โควิดปัจจุบัน มองว่าเป็นผลมาจากความติดใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยุค คสช. มานาน ทั้งที่สถานการณ์ดีขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่กลับไปควบคุมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด เป็นการใช้ พ.ร.ก เพื่อฉวยโอกาสรังแกประชาชน ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการปกป้องเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มารังแกประชาชนด้วยหรือไม่ ทำให้ประชาชนไม่สามารถเอาผิด เจ้าหน้าที่รัฐได้ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภาจะมีการพิจารณาในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้ ส่วนตัวเชื่อว่า ส.ว. จะโหวตให้เกิดกระบวนการแก้ไข มาตรา 256 เพื่อให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ขึ้น เพราะมีสถานการณ์ออกมาเคลื่อนไหว แต่การแก้ มาตรา 272 เรื่องอำนาจ ส.ว. ในการโหวตนายกฯ ประเด็นนี้ ไม่มั่นใจว่า ส.ว. จะโหวตให้ผ่านวาระแรกหรือไม่ เพราะมาตรานี้มีความสำคัญ หากไม่มีการแก้ไข โอกาสที่พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ไปถึง 8 ปี ก็จะเกิดขึ้น"ผมเชื่อว่าจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ยังหาทางออกได้ โดยผู้มีอำนาจต้องรับฟังประชาชนมากกว่านี้ และพร้อมที่จะปฏิบัติตาม ต่อสิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง และเราปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือ เจ้าของ ส.ว. ดังนั้น หากอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ให้ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน พล.อ.ประยุทธ์ ควรถอยยกเลิกอำนาจ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี" นายรังสิมันต์ ระบุ

logoline