svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

แพทย์เตือนคนไทยระวังเสพติดสื่อด้านมืด

09 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความน่ากลัวของการเลือกรับข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์กำลังกลายเป็นสิ่งที่น่ากังวล โดยเฉพาะในยุคโซเชียลครองเมือง ด้านโฆษกกรมสุขภาพจิต ได้ออกมาเตือนให้คนไทยระวังในการรับข้อมูลข่าวสารที่มีความรุนแรงโดยที่เราอาจจะไม่รู้ตัว

ดร.นพ.วรตม์โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต บอกกับ "เนชั่นทีวี" ว่า การหยิบยกประเด็นของลุงพลขึ้นมาบนพื้นที่สื่อ ถือว่าไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการนำเสนอหากย้อนกลับไปจะพบว่า เคยมีการนำเสนอบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีที่ได้รับความสนใจจากสังคมเช่น คดีเปรี้ยวหั่นศพ ซึ่งเป็นการนำเสนอของโลกออนไลน์และสื่อก็นำมาเสนอต่อ ซึ่งเรื่องการทำให้บุคคลธรรมดากลายเป็นคนดังข้ามคืนหรือ "Celebrity" เป็นสิ่งที่มีความน่ากลัวต่อตัวผู้ที่ถูกระทำหรือแม้แต่สังคมส่วนรวมโดยในส่วนของคนที่ถูกหยิบยกมาเป็น "Celebrity" อาจจะถูกสังคมแบนได้อย่างลุงพล และกลายเป็นความเกลียดชังได้ส่วนในมุมของสังคมอาจจะทำให้พลาดในเรื่องที่มีประโยชน์ เช่น การนำเสนอข่าวลุงพลอาจทำให้พื้นที่ในการนำเสนอข่าวลดน้อยลงแทนที่สังคมจะได้รับเรื่องราวอันเป็นประโยชน์และความรู้ แต่กลายเป็นว่าต้องมาดูข่าวลุงพลแทน


 

            แต่หากมองพื้นฐานการเลือกรับชมข่าวสารของคนไทยส่วนใหญ่มักจะเลือกรับข่าวที่มีประเด็นดราม่า คล้ายกับการเสพละครบันเทิง ซึ่งการที่สื่อบางแห่งเลือกใช้ช่องทางนี้ก็มาจากการเอาตัวรอดในธุรกิจสื่อที่มีการแย่งชิงกันไม่เว้นแม้แต่ในช่องทางยูทูป หรือแม้แต่กลุ่มเกมเมอร์ ที่มีการนำเสนอด้วยคำหยาบคายทั้งๆที่เนื้อหาของรายการไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นแต่พื้นฐานของคนมักจะต้องการรับรู้ในเรื่องราวที่มีความลึกลับ รุนแรง หรือมีถ้อยคำหยาบคายหากเราดูในโลกออนไลน์จะพบว่า มีรายการที่นำเสนอในลักษณะดังกล่าวจำนวนมากเพราะการนำเสนอความรุนแรงหรือความหยาบคาย ทำให้คนเข้ามาดูจำนวนมาก ซึ่งการผลิตเนื้อหารายการแบบนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องเตรียมข้อมูลเยอะ ฉะนั้น การนำเสนอเนื้อหาในด้านมืดจึงเป็นสิ่งที่คนทำยูทูปเบอร์มักจะทำออกไปให้แตกต่าง เพื่อเรียกจำนวนผู้ชมและนำมาซึ่งรายได้ที่ตามมา และการนำเสนอเนื้อหาด้านมืดเป็นสิ่งที่สะท้อนสิ่งที่ถูกซ่อนไว้ในความเป็นมนุษย์ ซึ่งถูกแอบซ่อนไว้ด้วยสามัญสำนึกทำให้เมื่อคนเข้าไปดูเนื้อหาที่เป็นด้านมืดจะทำให้เกิดความรู้สึกตอบสนองความรู้สึกภายในตัวตน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีเหตุความรุนแรงในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดนครราชสีมา จะพบว่า มีคนให้ความสนใจในการติดตามข่าวสารในโลกออนไลน์เป็นเวลากว่า 17 18 ชั่วโมง ซึ่งตรงกับทฤษฎีที่เรียกว่า "Fear of missing out" หรือ "FOMO" หมายถึง อาการกลัวการตกข่าว ตกกระแสจนรู้สึกกระวนกระวายใจว่าจะพลาดในเรื่องสำคัญที่สังคมติดตามอยู่ ทั้งๆที่เราอาจจะไม่ได้ชอบในเรื่องราว หรือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นสำหรับบางคน เพียงเพราะว่า อยากจะทำให้เหมือนคนอื่น หรือทำเพราะกลัวถ้าถ้าปฏิเสธออกไป จะทำให้พลาดโอกาสอะไรบางอย่าง      

           

logoline