svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ดร.เจษฎ์" หนุนแก้ รธน.รายมาตรา ชี้ได้ประโยชน์ 3 เด้ง

07 กันยายน 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความเคลื่อนไหวของกลุ่ม 60 ส.ว.ที่สนับสนุนให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 "ปิดสวิตช์ตัวเอง" ด้วยการตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี กำลังได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย โดยนักวิชาการซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า การแก้ไขมาตรา 272 เพียงมาตราเดียว ยังไม่มีน้ำหนักเหตุผลมากพอ และไม่น่าจะหยุดวิกฤติการเมืองในช่วงนี้ได้ พร้อมเสนอแก้รายมาตรา เน้นที่เป็นปัญหาจริงๆ ชี้ได้ประโยชน์ถึง 3 เด้ง ดีกว่าตั้ง ส.ส.ร.

ดร.เจษฎ์ โทณวณิก อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 มองว่า การที่กลุ่ม 60 ส.ว.ออกมาประกาศตัวสนับสนุนให้มีการแก้ไขยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยการให้อำนาจ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น หากมองในแง่บวกก็ถือเป็นเจตนาดีในการรับฟังกระแสเรียกร้องของสังคม แต่หากพิจารณาในแง่ของเหตุผลความจำเป็นของการแก้ไข ต้องบอกว่าเป็นเหตุผลที่เบามาก เพราะถ้านายกรัฐมนตรีไม่ยุบสภาหรือลาออกในระยะเวลาอันใกล้นี้ โอกาสที่จะใช้มาตรา 272 คือ ส.ว.ร่วมโหวตเลือกนายกฯ ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนตัวจึงมองว่าไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ในทางกลับกัน ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลที่เตรียมเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกมาตรา 269-272 เกี่ยวกับ ส.ว.ชุดเฉพาะกาลทั้งหมด ยังดูมีน้ำหนักเหตุผลเชิงสัญลักษณ์มากกว่า ในแง่ที่ว่าไม่เอา ส.ว.ที่มาจาก คสช.ไปเลย แต่หากแก้เฉพาะมาตรา 272 มาตราเดียว ก็เท่ากับว่า ส.ว.ชุดปัจจุบันยังทำหน้าที่อื่นๆ ต่อไปได้ตามปกติ ยกเว้นการโหวตเลือกนายกฯเท่านั้น ซึ่งเท่าที่ดูก็ยังไม่มีแนวโน้มจะโหวตเลือกนายกฯกันใหม่ในเร็ววันนี้

นอกจากนั้นการที่กลุ่ม 60 ส.ว.ไม่ได้สนับสนุนให้มีการรื้อรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ด้วยการตั้ง ส.ส.ร. หรือ สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็จะทำให้บทบาทของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ยังมีอยู่ต่อไป เพียงแต่ตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกฯออกไปเท่านั้นเอง
ส่วนกรณีที่ ส.ว.บางส่วนพร้อมสนับสนุนให้มีการแก้ไขมาตราอื่นๆ ด้วย ในลักษณะการแก้รายมาตรานั้น ดร.เจษฎ์ มองว่า การแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราถือว่าสมเหตุสมผลมากกว่าการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะจะสามารถยุติความกังวลใจใน 5 ประเด็นที่บางฝ่ายไม่อยากให้แตะต้องไปได้ / นั่นก็คือ ไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป / ไม่แตะหมวด 2 พระมหากษัตริย์ / ไม่แตะเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ / ไม่แตะเรื่องอำนาจของศาล / และไม่แตะเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ / ซึ่งเมื่อไม่แตะ 5 เรื่องนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะง่ายขึ้น และไม่จำเป็นต้องทำประชามติ

ดร.เจษฎ์ ยังบอกด้วยว่า ผลบวกของการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรามีถึง 3 เด้ง คือ 1. ประหยัดเวลา เพราะระยะเวลาจะสั้นกว่าการยกร่างใหม่โดย ส.ส.ร.มาก / 2. ไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งจะลดขั้นตอนต่างๆ รวมถึงลดเวลาไปได้มากทีเดียว และ 3. ไม่สิ้นเปลืองงบประมาณ เพราะการทำประชามติ 1-2 ครั้ง กับการเลือก ส.ส.ร. ล้วนต้องใช้งบประมาณ รวมๆ แล้วก็หลักหมื่นล้านบาท
อดีตที่ปรึกษา กรธ.ยอมรับว่า แม้จะมีการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ทั้งเรื่อง ส.ว. เรื่องกติกาเลือกตั้ง หรือประเด็นอื่นๆ ซึ่งจะได้ประโยชน์ในแง่ของการประหยัดเวลา และประหยัดงบประมาณ แต่ก็จะไม่สามารแก้ไขวิกฤติการเมืองได้ทั้งหมด เพราะต้องยอมรับว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งหากสุดท้ายต้องเดินไปแบบนั้นจริง การจะเสียงบประมาณเท่าใดก็คงต้องยอม แต่เมื่อยกร่างใหม่แล้ว ต้องจบ ไม่ใช่พอมีประเด็นอะไรไม่พอใจก็ออกมาเรียกร้องหรือแสดงการไม่ยอมรับอีก กลายเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น

logoline