svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ข่าว

"ไทยออยล์รายงาน" ราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวในระดับสูงจากการผลิตน้ำมันดิบที่ลดลง

17 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม 2563 ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 39 - 44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 42 - 47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล




แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 21 ส.ค. 63)



ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มขยับขึ้นเล็กน้อย จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับลด หลังอิรักตกลงที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 รวมทั้งกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีน และสหรัฐฯ ที่มีทิศทางดีขึ้น อาจช่วยหนุนให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง และส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลง 



ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:


1.กำลังการผลิตน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลด หลังอิรักได้ตกลงที่จะร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตลงอีก 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และก.ย. 63 หลังจากเผชิญแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากสมาชิกภายในกลุ่มโอเปก เพื่อให้ทุกประเทศปฏิบัติตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตร่วมกันตามปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศ



2.ปริมาณน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดต่อเนื่อง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงจากระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ EIA ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2563 ลงจากระดับ 11.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 11.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน พร้อมกับปรับตัวเลขความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระดับ 18.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 18.46 ล้านบาร์เรลต่อวัน



3.ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจของจีนกลับมาเข้าใกล้ระดับเดิม ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิค-19 โดยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน ก.ค. (CPI) ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากปีก่อนหน้า ขณะที่ตัวเลขแรงงานสหรัฐฯ ประจำเดือน ก.ค. 63 ปรับตัวดีขึ้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ (Nonfarm Payrolls) เพิ่มขึ้น 1.76 ล้านตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.48 ล้านตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ลดลงจากร้อยละ 11.1 เหลือร้อยละ 10.2 



4.นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งพิเศษของฝ่ายบริหาร (Executive order) เพื่อขยายเวลาของมาตรการเยียวยาสถานการณ์โควิด-19 โดยจะจ่ายเงินให้แก่ชาวอเมริกันที่ว่างงานสัปดาห์ละ 400 เหรียญสหรัฐฯ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น หลังสภาสหรัฐฯ ไม่สามารถมีมติร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวได้



5.อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างทําเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ วงเงิน 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยนายมิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นําเสียงข้างมากของวุฒิสภาสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทําเนียบขาวและสมาชิกพรรคเดโมแครต เริ่มการเจรจากันอีกครั้งเกี่ยวกับร่างกฎหมายเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากที่การเจรจาประสบความล้มเหลวไปก่อนหน้านี้ ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหากทําเนียบขาวและสภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าว



6.ตลาดน้ำมันยังถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์รอบสอง ซึ่งจะกระทบความต้องการใช้น้ำมัน



7.เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน ก.ค. 63 รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการยูโรโซน (PMI Composite) เดือน ส.ค. 63 



สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 14 ส.ค. 63) 


ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนหลัง EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ  ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 4.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับลดลงเพียง 2.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และนักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐฯ 

logoline