svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ยาแอนติบอดีเป็นอีกความหวังสู้โควิด-19

12 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในขณะที่การแข่งขันพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำลังดุเดือด โดยรัสเซียเป็นชาติแรกที่รับรองวัคซีนไปแล้ว แต่อีกหลายบริษัทกำลังหาทางลัดใช้วิธีพัฒนายาแอนติบอดี ที่เข้าไปฆ่าไวรัสโคโรนาทันที โดยไม่ต้องเสียเวลากระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานอย่างที่วัคซีนทำ

ยาแอนติบอดีหรือยาภูมิต้านทานบำบัด กำลังเป็นอีกหนึ่งความหวังของแนวทางการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 โดยยาชนิดนี้ลอกแบบมาจากแอนติบอดี หรือ สารภูมิต้านทาน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย และแอนติบอดีจะตรงเข้ากำจัดไวรัสในทันที แตกต่างจากการทำงานของวัคซีนที่พัฒนาจากเชื้อไวรัสทำให้ร่างกายเข้าใจว่ามีเชื้อไวรัสแปลกปลอมเข้ามา จึงกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นมา และเมื่อมีเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายในอนาคต ก็จะสามารถกำจัดเชื้อได้
ยาแอนติบอดีจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันได้นานเพียง 1 เดือนหรือมากกว่านั้น แต่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันชั่วคราวได้อย่างรวดเร็ว จึงเหมาะใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อ เช่น บุคลากรการแพทย์และคนที่อยู่ในบ้านเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 และคนกลุ่มนี้ได้รับยาแอนติบอดีภายใต้โครงการทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาแล้ว
ขณะนี้มีหลายบริษัทกำลังพัฒนายาแอนติบอดี และได้ผลลัพธ์น่าพอใจ คาดว่าจะสามารถเปิดเผยผลการศึกษาได้ช่วงปลายปีนี้ หนึ่งในบริษัทเหล่านี้ คือ อีไล ลิลลี ผู้ผลิตยาชื่อดังของสหรัฐ ซึ่งเริ่มผลิตยาแอนติบอดีแล้วด้วยความมั่นใจว่าการทดลองทางคลินิกของยาตัวนี้จะออกมาได้ผลดี ขณะนี้อีไล ลิลลี กำลังทดสอบตัวยาแอนติบอดีร่วมกับบริษัท แอบเซลเลอรา ของแคนาดา และบริษัท จุ้นซี ไบโอไซแอนซ์ของจีน 
และเมื่อเดือนก.ค. จุ้นซี เปิดเผยว่า ยาไม่มีผลข้างเคียงกับบุคลากรการแพทย์ 40 คน ที่เข้าร่วมการทดลองใช้ยา ส่วนการทดลองกับอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้บริษัท รีเจเนอรอน ฟาร์มาซูติคอลส์ ซึ่งเคยพัฒนายาแอนติบอดีรักษาโรคอีโบลา, บริษัท แอมเจน แอนด์ อแดปทีฟ ไบโอเทคโนโลยีส์ และบริษัทไทชาน ต่างกำลังพัฒนายาแอนติบอดีพิชิตโรคโควิด-19 เช่นกัน ก่อนหน้านี้บริษัทไทชาน ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสิงคโปร์เคยพัฒนายาแอนติบอดีรักษาไวรัสซิก้า และไข้เหลือง
ยาแอนติบอดีไม่ใช่สิ่งใหม่ มีการพัฒนาสำหรับใช้รักษาโรคต่างๆโดยเฉพาะ เช่น โรคมะเร็ง แต่การผลิตมีความซับซ้อนและราคาแพง นอกจากนี้แอนติบอดีมีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถกระจายไปทั่วทุกจุดที่ต้องการกำจัดเชื้อไวรัสได้ เช่น จุดที่ลึกลงไปในปอด แต่การให้ยาแอนติบอดีผ่านทางหลอดเลือดดำ ก็จะทำให้แอนติบอดีกระจายไปตามกระแสเลือดสู่ทุกจุดที่ต้องการได้
นอกจากนี้ไวรัสสามารถกลายพันธุ์เพื่อหลบหนีแอนติบอดีได้ ทำให้บริษัทรีเจเนอรอนทดสอบใช้สูตรตัวยาแอนติบอดี 2 ตัวผสมกันเพื่อให้สามารถดักจับไวรัสได้ดีขึ้น 
และแม้ภูมิคุ้มกันจากยาจะอยู่ในร่างกายได้ไม่นาน และอาจสลายไปในหนึ่งเดือน แต่ยาก็ยังมีประสิทธิผลในการรักษาอาการป่วย ขณะที่บริษัทวีร์ ไบโอเทคโนโลยี กำลังพัฒนาให้แอนติบอดีอยู่ในร่างกายได้ยาวนานขึ้น และการเพิ่มปริมาณยา เมื่อแอนติบอดีลดเหลือครึ่งหนึ่งหลังจากครบ 1 เดือน ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยยืดเวลาได้ 
ส่วนปัญหาใหญ่ที่กลัวว่า แอนติบอดีจะให้ผลตรงกันข้าม คือ เพิ่มศักยภาพให้ไวรัสตรงเข้าสู่เซลล์ หรือ กระตุ้นภูมิคุ้มกันจนทำให้ป่วยมากขึ้น ยังไม่พบจากการทดสอบในขณะนี้  แต่อาจต้องรอผลการทดสอบกับคนจำนวนมากขึ้นเพื่อพิสูจน์เรื่องความปลอดภัย

logoline