svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ชุมนุมนักศึกษาย้อนรอย 6 ตุลาฯ 19

11 สิงหาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สมาชิกวุฒิสภา" รุมอัดการเคลื่อนไหวนักศึกษาชุมนุมเลยเถิดข้อเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันฯที่ประชาชนเคารพรัก พร้อมจี้รัฐบาลใช้ไม้แข็งจัดการพวกอีแอบอยู่หลักเด็ก แนะใช้เวทีรัฐสภาพูดคุยหาทางออกบ้านเมือง

(11 สิงหาคม 2563) การประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเปิดให้สมาชิกหารือ โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ระบุว่า ส่วนตัวรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ และเชื่อว่าประชาชนก็ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกัน หลังจากติดตามข่าวการชุมนุมทางการเมือง 3 ครั้งในรอบ 7 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะล่าสุด เมื่อวันที่ 3 ส.ค. บรเวิณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย วันที่ 9 ส.ค. จ.เชียงใหม่ และล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และยิ่งอึดอัดเมื่อทราบว่าในตอนจบมีการประกาศชุมนุมในลักษณะเดียวกันในวันที่ 12ส.ค. สวนลุมพินี ซึ่งใกล้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ก่อนจะถึงวันชุมนุมในวันที่ 16 ส.ค.

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา มีเนื้อหารุนแรงสุดเท่าที่เคยฟังมาในชีวิต มีข้อเรียกร้องที่ไม่มีคนไทยคนไหนเรียกร้องในการชุมนุมสาธารณะ เลยเถิดเกินการขับไล่รัฐบาล เกินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือยกร่างใหม่ทั้งฉบับ และชวนให้คิดได้ว่า การไม่ยอมรับเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขอแต่เพียงยกร่างใหม่ทั้งฉบับนั้น เป้าหมายสูงสุดคืออะไร สรุปคือเกินขอบเขตการต่อสู้ทางการเมืองตามปกติที่คนไทยเคยเห็น นอกจากนั้น การชุมนุมดังกล่าวมีรูปแบบบางช่วงนำประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมายาวนาน ด้วยความเคารพศรัทธาสูงสุดของคนทั้งประเทศมาล้อเลียนบนเวที 

"เป็นการร่วมกระทำการของผู้ต้องหา 2 คน ที่เพิ่งได้รับการประกันตัวออกมา อันมีลักษณะเข้าข่ายผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว และยังมีการไลฟ์สดของผู้ที่หลบหนีคดีอยู่ในต่างประเทศ ที่เป็นฮีโร่ของเยาวชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเคยกล่าวในอดีตทำนองว่าประเทศนี้ต้องลงเอยด้วยความรุนแรงและสงครามกลางเมือง" นายคำนูณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันนี้ (11ส.ค.) มีคำถามมากมายที่ประชาชนถามผ่านมาว่า จะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือ ซึ่งตนทราบว่าเรื่องดังกล่าว เป็นความยากลำบากในการบริหารจัดการของรัฐบาล การใช้กฎหมายเคร่งครัดสถานเดียว และการใช้การเมืองก็เข้าทาง ดังนั้น ต้องใช้กฎหมายและมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไป และทราบความยากในการบริหารจัดการรัฐบาล จึงขอหารือผ่านประธานส.ว. ไปยังนายกรัฐมนตรี ให้ใช้ตัวช่วยตามระบบการเมืองที่มีอยู่ ดำเนินมาตรการทางการเมืองควบคู่กันไป โดยเสนอให้รัฐบาลดำเนินมาตรการทางการเมืองด้วยการรับฟังความเห็นข้อเสนอจากสมาชิกรัฐสภาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ 

ทั้งนี้ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 โดยเร็ว แม้สมาชิกของทั้ง 2 สภาจ ะมีความเห็นหลากหลายแตกต่างกันในหลายกรณี แต่เชื่อว่าทั้ง 2 สภา มีความเห็นร่วมกันว่าการกระทำบางอย่างของผู้ชุมนุมบางคนในการชุมนุม 3 ครั้งที่ผ่านมา เกินขอบเขตที่ควรจะเป็น ทำให้ข้อเรียกร้องปกติของประชาชนส่วนใหญ่ต้องถูกทำให้เสียหาย สุ่มเสี่ยงจุดชนวนความรุนแรง ซ้ำรอยเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 อันจะสร้างแผลลึกส่งต่อลูกหลานต่อไป โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ จะซ้ำเติมประเทศไทยจมดิ่งลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ หากแก้ไขไม่ทัน ดังนั้น จึงเห็นว่ารัฐสภาควรเป็นเวทีที่หาทางออกให้บ้านเมืองก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า 6 ตุลาฯ ภาค 2 ขึ้นมาในเร็วๆนี้ และหากถึงวันนั้น หากรัฐสภาและรัฐธรรมนูญยังคงอยู่ 

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว. กล่าวว่า การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และก่อนหน้านั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือการจาบจ้วงล่วงละเมิดเกินเลยกว่าที่จะรับได้ สิ่งที่คนไม่กี่คนชักจูงสังคมไทยไปถึงจุดขัดแย้ง เกินกว่า 70 ล้านคนจะรับได้ จากคนไม่กี่ร้อย กี่พันคน ปลุกระดมความคิด ผ่านกระบวนการล้มสถาบันจากในและนอกประเทศ การชุมนุมเกินเลยกว่าการเรียกร้องยุบสภา ขับไล่ ส.ว. และล้มรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา มาตรา 116 ชัดเจน ในเรื่องกระทำการกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดจะก่อความไม่สงบเพื่อให้ประชาชน ล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นเดินซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี 

"ผมพูดเช่นนี้เพราะเห็นว่าต้องเร่งแก้ปัญหา ถ้าจะจบในรุ่นเราก็พร้อมจะจบ เพราะเขากำลังเอาเด็กนักเรียนนักศึกษา ซึ่งก็คือลูกหลานเราเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คนที่อยู่เบื้องหลังเป็นอีแอบ ไม่กล้าออกมาเผชิญความจริง ทั้งที่จงใจและอยู่เบื้องหลังการล้มสถาบันพระมหากษัตริย์ สิ่งที่ยั่วยุวันนี้ ต้องการให้เกิดเหมือน 6 ตุลาฯ 19 และพฤษภาฯ 35 เพื่อนำไปสู่ความฝันอันเพ้อเจ้อ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็น 14 ตุลาฯ 16 และฝันไกลไปถึงล้มล้างรัฐธรรมนูญ ล้มล้างการปกครองแบบ 2475 ซึ่งเขาแอบอ้างว่ายังทำภารกิจไม่สมบูรณ์ เพราะเขาต้องการระบอบประชาธิปไตยที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ หรือต้องการเอาพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมาย ภายใต้การบังคับของพวกเขา ถามว่าเด็กเหล่านี้รู้หรือไม่"นายสมชาย กล่าวทั้งนี้ ส่วนตัวเสนอให้ใช้ไม้แข็ง ดำเนินการกับหัวโจกชุมนุม คือ ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบเส้นทางการเงินที่สนับสนุนการชุมนุมทั้งหมด เพราะมีการใช้จอแอลอีดี ค่าเช่ามูลค่าหลายแสน ฉายสิ่งไม่บังควรล้อเลียนพระบรมฉายาลักษณ์ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปอท. ดำเนินการจัดการสื่อสารทางโซเชียล ต่อผู้กระทำผิดเผยแพร่โฆษณาโดยเร็ว และให้ตำรวจดำเนินการถอนประกัน นายอานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนายภ่านุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง เพราะผิดเงื่อนไขการประกัน เนื่องจากได้ตรวจสอบคลิปวีดีโอแล้วพบว่า มีการพูดจาบจ้วงสถาบันชัดเจน ชักชวนประชาชนให้ก่อเหตุการณ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหลักฐาน 

นอกจากนี้ ส่วนตัวขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่งที่จะจัดการชุมนุม รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม เพราะการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองอธิการบดีออกมาขอโทษไม่เพียงพอ ซึ่งต่อจากนี้หากมีการชุมนุมทั้งอธิการบดี และผู้บริหารต้องรับผิดชอบ สิ่งที่ชุมนุมเกินขอบเขต พร้อมขอให้สื่อหยุดสื่อสารข่าวสารของการชุมนุม เพราะทำให้การชุมนุมที่มิชอบฮึกเหิมและบานปลาย รวมทั้งขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังประเทศญี่ปุ่น ที่นายประวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และประเทศที่นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อยู่ ซึ่งทั้ง 2 คน ก่อตั้งรอยัลมาร์เก็ตเพลส ที่ปลุกระดมมวลชนผ่านเครือข่ายและวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มายังกลุ่มผู้ชุมนุมเวทีธรรมศาสตร์ 

ขณะเดียวกัน ขอให้กระทรวงการต่างประเทศประท้วงและแจ้งไปว่า คนไทยไม่ยินยอมให้ใช้ประเทศเหล่านั้นให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย และถ้ารัฐบาลไม่ดำเนินการไม่ใช้ไม้แข็ง ไม้นวม และอ้อมกอดที่ดี ต้องเปิดเวทีให้นักศึกษาที่ต้องการแสดงความเห็นตรงไปตรงมา เรื่องการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งเปิดเวทีให้นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ประธานสภาฯ ประธานส.ว. และกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้งหมด ร่วมประชุมกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทุกแห่ง ประธานสภาอาจารย์ทุกสถาบัน นายกองค์การนิสิต นักศึกษา จัดเวทีหาทางออกประเทศไทย ทางการเมือง แต่ต้องไม่มีเรื่องจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์และ 10 ข้อเสนอ ของกลุ่มผู้ชุมนุมไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะประชาชนไม่มีทางยินยอม

ขณะที่ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาเริ่มรุนแรงยิ่งขึ้น มีการแบ่งฝักฝ่ายแตกกันชัดเจน โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อคืนวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเดือด แตกหักทั้งภาพ เสียง เอกสารแสดงออกชัด ถ้าคนในชาติแตกกัน ประเทศจะหายนะ อุบัติเหตุทางการเมืองไม่น่าจะเกิดในบางครั้ง แต่ก็เกิด เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีการรัฐประหาร ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ทุกคนมีเป้าหมายเดินไปสู่ประชาธิปไตย และมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ต้องยอมรับมีคนบางกลุ่มไม่เยอะนัก เป็นบ่อนทำลายสร้างภัยคุกคามทั้งในและต่างประเทศเป็นขบวนการ

ทั้งนี้ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาปฏิเสธกระบวนการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่มีคนบางกลุ่มอาศัยจังหวะโอกาสสอดแทรกในการเคลื่อนไหวดังกล่าว ขอให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาบ้านเมืองจับกุมคุมขัง ใช้อำนาจเด็ดขาดกับคนกลุ่มนี้ เพราะทำผิดกฎหมายชัดเจน สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นเรื่องข้องกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาประเทศ จึงขอสนับสนุนให้ใช้เวทีรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 มาแก้ปัญหา เพื่อใช้เวทีรัฐสภาแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งทางรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และการเมือง มาแก้ปัญหาร่วมกัน ดีกว่าให้บ้านเมืองเกิดอุบัติเหตุ ไปสู่จุดที่ไม่คาดหวัง อยากให้นายกฯใช้เวทีรัฐสภา เป็นกลไกแก้ปัญหาบ้านเมืองจากนั้น ประธานส.ว. ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่รีบถอดเทปข้อหารือดังกล่าวโดยด่วน เพื่อส่งไปยังรัฐบาลพิจารณาตามข้อเสนอนี้ต่อไป

logoline