svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

สกสว.ผนึก มช. หนุนสสช. ยกเครื่องซิตี้-โอเพ่นดาต้า

25 พฤษภาคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สกสว. ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) สนับสนุนสำนักงานสถิติแห่งชาติ(สสช.) เดินหน้าประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เร่งยกเครื่องฐานข้อมูลโอเพ่นดาต้า / ซิตี้ดาต้า มุ่งเจาะฐานถึงระดับเทศบาลตำบล หมู่บ้านเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ(Smart City) ทั่วประเทศ

รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะหัวหน้านักวิจัยเรื่อง open data /city data โครงการ "การศึกษาเครื่องมือและกระบวนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ" การสนับสนุนภายใต้แผนงานการพัฒนาภูมิภาคและจังหวัด 4.0 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งมี ดร.ปิยะนุช ธูปถมพงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า สนับสนุนสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เร่งผลักดันองค์ความรู้เรื่อง city data และ open data ที่มุ่งเน้นเรื่องการทำข้อมูลพื้นฐานของการทำเมืองอัจฉริยะหรือ smart city โดยอ้างอิงร่วมกับข้อมูลจาก สสช. ทำให้เห็นว่าศักยภาพของการพัฒนาแต่ละเมืองยังแตกต่างกัน หลายเมืองยังต้องเร่งยกระดับศักยภาพการพัฒนาด้านการจัดเก็บข้อมูลของเมืองต่างๆ
ดังกรณีได้ยกตัวอย่างจังหวัดภูเก็ต ที่มี บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด พัฒนาระบบโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลของเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ที่เร่งดึงหลายหน่วยงานเข้าไปร่วมพัฒนาเมืองให้เป็น "เมืองสมาร์ทซิตี" โดยทั้งสองบริษัทพัฒนาเมืองข้างต้นเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของภาคเอกชนที่เข้มแข็งจึงสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองไปได้อย่างรวดเร็วกว่า สำหรับเรื่องโอเพ่นดาต้าผู้สนใจสามารถเข้าไปติดตามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ http://thaiopendata.org/ ของโครงการฯ ที่เผยแพร่ไว้แล้ว
โดย มช. และ สกสว. ได้นำเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือการนำเสนอข้อมูลการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้กับ สสช. โดยใช้ข้อมูลระดับจังหวัดที่ สสช. มีการเก็บรวบรวมไว้จำนวนมาก 21 สาขา ตามมาตรฐานสากล ซึ่งกระจายอยู่ที่สำนักงานสถิติจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด มาจัดทำเป็นคลังข้อมูลระบบเดียวกัน เพื่อรองรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้ง Open Data และการประมวลผลสารสนเทศ Business Intelligener (BI) ทำให้เห็นข้อมูลรอบด้านชัดเจนในภาพรวมของประเทศ และนำเสนอด้วยโปรแกรม Power BI
รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน สสช. ได้เร่งจัดทำแผนขยายผลการจัดทำคลังข้อมูลและการนำเสนอด้วย Power BI ให้กับบุคลากรของ สสช.ในภูมิภาคเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับข้อมูลแต่ละเมือง (จังหวัด) ก่อนทำขยายผลโดยการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานระดับพื้นทีให้เก็บรวบรวมข้อมูลระดับพื้นที่จากระดับจังหวัดไปสู่ระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่อไป
ช่วงที่ผ่านมาฝึกอบรมไปแล้ว 2 รุ่น จำนวน 150 คน รุ่นแรกที่กรุงเทพฯ รุ่นที่ 2 ที่ขอนแก่น ซึ่งเป็นศูนย์กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยยังมีแผนจัดฝึกอบรมให้จังหวัดต่างๆ ภายหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 นี้ไปแล้วในภาคใต้และภาคเหนือ ซึ่งภาคกลางยังต้องจัดเพิ่มรอบการอบรมอีก 1-2 รุ่น ผลดีของการอบรมทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงภาคปฏิบัติของการใช้งานโปรแกรมจากระบบคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง
นอกจากนั้นจากการหารือร่วมกับบริษัทไมโครซอฟ์ท ซึ่งยินดีสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน Power BI เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ สสช. ทั้งนี้หากรัฐบาลให้การสนับสนุนและให้ความสำคัญเรื่องซิตี้ดาต้าและโอเพ่นดาต้าอย่างจริงจังก็น่าจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศได้เป็นอย่างมาก ซึ่ง สกสว. มช. และ สสช. ได้ผนึกกำลังร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการนำข้อมูลสถิติไปใช้ประโยชน์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกนั่นเอง
โดยเริ่มต้นจากการจัดทำคลังข้อมูลที่มีข้อมูลย้อนหลัง 7 ปี (จากปี 2556 ถึง-2561) ต่อจากนี้จึงจะเริ่มนำข้อมูลปี 2562-2563 ป้อนเข้าไปสู่ระบบได้อย่างต่อเนื่องเป็นปัจจุบันมากขึ้น จากเดิมดำเนินการปีละครั้ง หลังจากนี้ก็สามารถทำได้หลายรอบมากขึ้น ยิ่งหากมีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์มากขึ้น มีผู้ติดตามจำนวนมากก็จะเกิดประโยชน์และเร่งจัดเก็บข้อมูลนั้นๆที่สามารถดำเนินการให้สอดคล้องและอ้างอิงกับแผนยุทธศาสตร์ของชาติได้อีกทางหนึ่งด้วย
"ปัญหาที่พบคือข้อมูลยังไม่ลงลึกถึงระดับตำบล หมู่บ้าน หรือระดับเทศบาล หากได้ข้อมูลระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เข้ามาเข้าสู่ระบบมากขึ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังสนองนโยบายของรัฐบาลที่มอบหมายอำนาจหน้าที่ให้กับ อปท. แต่ละท้องถิ่นได้อีกทางหนึ่งด้วย นี่คือกลไกที่เดิมหลายคนเห็นว่าในทางปฏิบัติสามารถดำเนินการได้จริงหรือ ดังนั้นหากสามารถดำเนินการเดินหน้าขยายผลได้จริง สสช. จึงต้องมีความพร้อมในการสร้างฐานข้อมูลใหม่ให้พร้อมรองรับการจัดทำข้อมูลในระดับพื้นที่ได้ในอนาคตนั่นเอง"
รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันหากมองปริมาณอัตราของเจ้าหน้าที่น่าจะเพียงพอแล้ว ขอเพียงรัฐบาลเพิ่มศักยภาพด้านไอทีการจัดเก็บข้อมูลให้แม่นยำ รวดเร็ว เท่านั้น เช่นเดียวกับการจัดเก็บข้อมูลอาจต้องมีงบประมาณจัดซื้อคลังจัดเก็บข้อมูลให้ได้มากขึ้นภายใต้เทคโนโลยีทันสมัยในปัจจุบัน

ดังนั้นแนวทางหนึ่งของการพัฒนาคือการบูรณาการข้อมูลเพื่อยกระดับมาตรฐานข้อมูลของประเทศ ตลอดจนการเพิ่มเพิ่มองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการข้อมูลและวิทยาศาสตร์ข้อมูลให้กับนักสถิติของ สสช. ให้ได้รับความรู้เรื่องระบบคอมพิวเตอร์ทันสมัยเสริมเข้ากับระบบสถิติและโปรแกรมเพาเวอร์ BI เพื่อเพิ่มความรู้ความชำนาญมากขึ้น เบื้องต้นนั้นกำลังเตรียมแผนจัดเวิร์คชอปขึ้นที่กรุงเทพฯอีกครั้งหลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด-19 นี้ไปแล้ว

"สสช.มีกลไกและอำนาจหน้าที่ดำเนินการประสานงานด้านข้อมูลจากหน่วยต่างๆได้อย่างเต็มที่ ถ้าเอาตัวชี้วัดจากเป้าหมายของประเทศเป็นตัวตั้ง เช่นการนำตัวชี้วัดของ Sustainable Development Goal : SDG มาใช้ที่เป็นตัวชี้วัด 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่องค์การสหประชาชาติ หรือ UN กำหนดขึ้นว่าจะสามารถตอบโจทย์แต่ละมิติได้อย่างไรบ้าง ดังนั้นขณะนี้กรอบของการพัฒนาประเทศที่ยกระดับสู่มาตรฐานได้ถูกนำมาใช้กับประเทศไทยมากขึ้นดังที่หลายประเทศของโลกนำไปใช้กัน" รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ กล่าวในตอนท้าย

logoline