svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อัยการสูงสุดติงร่างสัญญายืดสัมปทาน BEM

22 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อัยการสูงสุดส่งร่างสัญญาขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ให้ BEM ให้กทพ.แล้ว ก่อนส่งให้รมว.คมนาคม เคาะสัปดาห์หน้า เพื่อชงครม.อนุมัติปลายม.ค. แต่ตั้งข้อสังเกตให้กทพ.ปรับแก้ไขข้อความ ตรวจสอบจำนวนข้อพิพาท การแบ่งรายได้ในระหว่างสัญญาให้ถูกต้อง ห่วงอัยกายสูงสุดไม่ได้ตรวจภาคผวนกแนบท้ายสัญญา แต่ให้กทพ.จัดทำหวั่นทำรัฐเสียเปรียบ ด้านบอร์ดกทพ.ประชุม 23 ม.ค.นี้ อนุมัติ "สุชาติ" ลาออก ตั้ง "ดำเกิง" นั่งรักษาการ ส่วนสร.กทพ. เดินหน้ายื่นหนังสือให้บอร์ดลาออกทั้งคณะ

สำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และร่างสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ได้ส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบและผ่านการตรวจพิจารณาแล้ว ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนตามมติของบอร์ดกทพ. และมติคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ตามมาตรา 43 ที่อนุมัติให้ต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนให้กับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อยุติ 17 ข้อพิพาทระหว่างกทพ.และ BEM ทั้งนี้ หนังสือที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งกลับมายังกทพ.ได้มีข้อสังเกตให้กทพ.ปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างสัญญาดังนี้ 
1. กทพ.ควรตรวจสอบจำนวนข้อพิพาทที่มีอยู่ต่อกัน โดยระบุให้ครบถ้วนทั้งหมด ทั้งนี้โดยไม่จำกัดว่าข้อพิพาทนั้นๆจะอยู่ขั้นตอนใดก็ตาม รวมทั้งการบังคับตามคำชี้ขาด และ/หรือตามคำพิพาทษาของศาล แล้วนำไปเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาให้ครบถ้วน
2. กทพ.ควรตรวจสอบระยะเวลาที่ได้ขยายไปให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ได้เจรจากับคู่สัญญาและเป็นไปตามกำหนดเวลาที่คณะกรรมการกำกับดูแลฯได้ให้ความเห็นชอบ3.ร่างสัญญาทั้ง 2 ฉบับ คำนิยามเรื่องระยะเวลาที่เหลือตามสิทธิของสัญญาเดิมนั้น ขอให้กทพ.ระบุระยะเวลาเป็นตัวหนังสือกำกับตัวเลขไว้เพื่อความชัดเจน 4.ร่างสัญญาโครงการทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) กทพ.ควรพิจารณาเพิ่มภาคผนวกการให้ความร่วมมือ เพื่อความชัดเจนและสอดคล้องกับร่างสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) 5.การคิดคำนวณมูลค่าการเงินต่างๆที่เกี่ยวข้องกับร่างสัญญาทั้งสองฉบับ  เอกสารเทคนิค การกำหนดจำนวนเงิน  จำนวนเวลาในการขยายระยะเวลา การกำหนดอัตราค่าผ่านทางและการปรับอัตราค่าผ่านทาง การแบ่งรายได้ค่าผ่านทางและตัวเลขต่างๆในร่างสัญญาทั้งสองฉบับนี้ รวมตลอดถึงเอกสารภาคผนวกท้ายสัญญาเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ได้ตรวจพิจารณาให้ ดังนั้นกทพ.จึงควรตรวจสอบให้เป็นไปตามที่ได้เจรจากันระหว่างคู่สัญญาภายใต้กรอบมติคณะรัฐมนตรี มติบอร์ดกทพ. มติคณะกรรมการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้ให้ฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคม ไปให้ความเห็นร่างสัญญาขยายสัมปทานทางด่วนต่ออัยการสูงสุดเพิ่มเติม โดยขอให้มีการตัดถ้อยคำบางอย่างออก และให้มีการเขียนในร่างสัญญาชัดเจนว่าคู่สัญญาจะให้บริการทางด่วนแบบไม่เก็บค่าใช้จ่ายในวันหยุดพิเศษตามที่ครม.กำหนด แต่ร่างสัญญาได้ถูกส่งกลับมายังกทพ.ก่อน ดังนั้นจึงต้องจับตาว่าจะมีการแก้ไขร่างสัญญาเพิ่มเติมอีกหรือไม่ รวมทั้งภาคผนวกของร่างสัญญา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความเสียเปรียบและได้เปรียบระหว่างการทำสัญญาของภาครัฐและเอกชน ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ให้กทพ.มาจัดทำเอง โดยไม่มีการตรวจสอบให้ 
อย่างไรก็ตาม คาดว่าร่างสัญญาฉบับแก้ไขจะถูกส่งมายัง รมว.คมนาคม พิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่ออนุมัติและเสนอต่อครม.พิจาณาต่อไปภายในปลายเดือนม.ค.นี้ ก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาระหว่างกทพ.และ BEM ในเดือนก.พ. หรือก่อนที่สัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช) ส่วน A B และC จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 29 ก.พ. 2563 ซึ่งหากมีการลงนามในสัญญานั้น ทางด้านองค์กรภาคประชาชนรวมถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกทพ. (สร.กทพ.) จะเดินหน้าฟ้องร้องต่อศาลปกครองทันที เพื่อให้คุ้มครองชั่วคราว เพราะการทำสัญญาดังกล่าวส่งผลกระทบทำให้กทพ.เสียหาย และยังกระทบต่อภาระค่าเดินทางของประชาชน   

ยุวธิษา ธัญญเจริญ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย( สร.กทพ.) ระบุ สหภาพฯ ยังเดินหน้าแสดงจุดยืนคัดค้านแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน ระหว่าง กทพ.กับ BEM ที่คณะทำงานแก้ไขปัญหาข้อพิพาททางด่วนของกระทรวงคมนาคม มีแนวทางยุติข้อพิพาทด้วยการขยายสัมปทาน 15 ปี 8 เดือน เพื่อแลกมูลหนี้ฟ้องร้องกว่า 5.8 หมื่นล้านบาท พร้อมขอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ออกมารับผิดชอบโดยการลาออก ในกรณีที่ทำให้ กทพ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเกิดความเสียหาย
ที่ผ่านมา นายประสงค์ สีสุกใส รักษาการประธาน สร.กทพ. ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาเปลี่ยนบอร์ด กทพ.ทั้งคณะ  พร้อมทั้งรวบรวมรายชื่อพนักงาน และลูกจ้าง กทพ.จำนวน 2,524 คน ลงนามขอให้ บอร์ด กทพ. ลาออก และหากกระทรวงคมนาคมยืนยันแนวทางเดิมคือ ขยายสัมปทานเพื่อแลกมูหนี้ดังกล่าว  ทางสหภาพฯจะรวมตัวกันกว่า 500 คน เพื่อเดินทางไป คัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 23 ม.ค.นี้ จะมีการประชุมบอร์ด กทพ. มีวาระ การพิจารณาหนังสือลาออกของนายสุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์ ผู้ว่าการ กทพ. โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถทำได้ตามประสงค์การรักษาผลประโยชน์ขององค์กรได้ เบื้องต้นบอร์ด กทพ.จะไม่ยับยั้ง และจะแต่งตั้งนายดำเกิง ปานขำ รองผู้ว่าการ กทพ.ให้รักษาการแทน 
อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่าการแต่งตั้งดังกล่าว ขัดต่อกฎหมายองค์กรของ กทพ. ที่ต้องเป็นรองผู้ว่าการที่มีอาวุโสสูงสุด คือนายวิชาญ เอกรินทรากุล  ขณะเดียวกัน ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ยังมี จะเร่งพิจารณา เช่น การขออนุมัติประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคางานก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 1 (งานโยธา) และสัญญาที่ 3 (งานโยธา) โดยการประกวดราคานานาชาติ

logoline