svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แก้น้ำแล้งพื้นที่ EEC ด้วยหลัก 3R + IoT เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็น "น้ำดี"

10 มกราคม 2563
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จังหวัดระยอง เป็น 1 ใน 3 จังหวัดที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนาตามนโยบายเขตการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน แต่การพัฒนาดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้ว่าจะนำไปสู่การเพิ่มจำนวนประชากรในพื้นที่ ซึ่งจะมีประชากรแฝงเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว สิ่งที่ตามมาคือ ความไม่เพียงพอของน้ำกินน้ำใช้ จนอาจเกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำและปัญหาการจัดการการใช้น้ำในอนาคต

ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นคงในการใช้ทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อผลสำเร็จตามเป้าหมายของการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านต่างๆ ในพื้นที่ EEC เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดการประชุมชี้แจงแผนงานการพัฒนาระบบการวางแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ ขึ้น ณ ห้องประชุม ศาลากลางจังหวัดระยองว่าที่ร้อยตรี พิรุณ เหมะรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ในฐานะประธานที่ประชุม กล่าวว่า แผนงานการพัฒนาระบบฯ ในการสร้างความมั่นคงด้านน้ำและการวางระบบบริหารจัดการน้ำด้านอุปสงค์ ที่มีเป้าหมาย เพื่อลดอัตราการใช้น้ำคาดการณ์ในพื้นที่ EEC ลง 15% เทียบกับข้อมูลการจัดการความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ EEC มีความสอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดระยอง ที่มุ่งเน้นการใช้น้ำให้ทั่วถึง ครอบคลุม และเป็นธรรมทุกภาคส่วน ทั้งน้ำกินน้ำใช้ น้ำภาคอุตสาหกรรม และน้ำภาคการเกษตร

แก้น้ำแล้งพื้นที่ EEC ด้วยหลัก 3R + IoT เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็น "น้ำดี"

" เพราะทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้น้ำ เพื่อลดความต้องการน้ำ จึงคาดหวังว่าแผนงานนี้ จะเข้ามาช่วยพัฒนากลไกเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำให้กับทุกภาคส่วน ด้วยการใช้ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ รวมถึงมีแนวทางการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้ว ตลอดจนการจัดสรรน้ำให้กับทุกภาคส่วนอย่างสมดุลเป็นธรรมและยั่งยืน"ทั้งนี้ในที่ประชุม นอกจากแผนงานการพัฒนาระบบเพื่อการบริหารจัดน้ำแล้ว เรื่องของ "น้ำเสีย" ถือเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและถูกหยิบยกขึ้นมาแลกเปลี่ยนกันอย่างมากจากผู้เกี่ยวข้องทั้งหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคณะนักวิจัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ เพราะเชื่อว่า "น้ำเสีย" น่าจะเป็นอีกหนทางของการกู้วิกฤตน้ำในพื้นที่ EEC ในอนาคตได้จากโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรจะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะการหาแหล่งน้ำเพิ่ม ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินนั้นอาจไม่พอ แต่ประเด็นสำคัญคือ ต้องลดการใช้น้ำลงด้วย เฉพาะในส่วนของจังหวัดระยอง มีการประเมินว่า ในปี 2570 จะมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 370 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปี 2580 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 570 ล้านลูกบาศก์เมตร

แก้น้ำแล้งพื้นที่ EEC ด้วยหลัก 3R + IoT เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็น "น้ำดี"

ขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึง EEC คนส่วนมากจะเพ่งเล็งไปที่ภาคอุตสาหกรรมคือต้นเหตุของปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีหลายโรงงาน รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการจัดการน้ำเสียอย่างเป็นระบบ และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนี่เองคือ อีกแนวทางหนึ่งของการเพิ่มทรัพยากรน้ำต้นทุน ที่นักวิจัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม การบริหารจัดการน้ำ มองกันว่าเป็นประเด็นสำคัญนางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดการใช้น้ำ 15% สำหรับภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่เพียงการลดปริมาณการใช้น้ำ แต่จะหมายถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำที่เกิดขึนในกระบวนการต่างๆ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม จะมีน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดและศักยภาพสามารถนำกลับมาใช้ได้ (Recycle) เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมมีระบบบำบัดนำเสียภายในโรงงาน รวมถึงมีระบบบำบัดน้ำเสียส่วนกลาง (center treatment) ของทางนิคมอุตสาหกรรม หรือสวนอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับน้ำเสียได้ในปริมาณมาก สำหรับภาคส่วนอื่น เช่น ภาคชุมชน และภาคบริการ บางแห่งก็มีระบบบำบัดน้ำเสียเช่นกันซึ่งทางคณะวิจัยกำลังศึกษาและพัฒนา เพื่อหาแนวทางในการนำน้ำเสียเหล่านั้นกลับมาใช้ประโยชน์สำหรับแผนงานในกลุ่มภาคอุตสาหกรรมนั้น หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นโครงการ "หวังผล" มีเป้าหมายคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เพื่อลดการใช้น้ำให้ได้อย่างน้อย 15% โดยการประยุกต์ใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ หรือ Smart System ที่รวมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 3R (Reuse, Reduce and Recycle) กับการใช้ Internet of Thing (IoT) ที่ช่วยเสริมให้ระบบบริหารจัดการทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำยิ่งขึ้น

ตามแผนงานจะมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี โดยในปีที่ 1 จะทำการการคัดเลือกต้นแบบระดับโรงงาน จำนวน 15 แห่ง และต้นแบบระดับนิคม 2 แห่ง สำหรับรวบรวมข้อมูลการใช้น้ำในปัจจุบัน ทั้งในเชิงคุณภาพ และปริมาณ โดยผู้เชี่ยวชาญ และทำการการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 3R ร่วมกับ IoT เพื่อพัฒนาเป็น"ต้นแบบหรือโมเดลการบริหารจัดการน้ำของนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานแต่ละประเภท"ก่อนขยายผลไปยังโรงงานหรือนิคมฯ อื่น ๆ ในพื้นที่ EEC และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ภาครัฐเพื่อออกเป็นกฎหมาย หรือมาตรการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไปด้าน ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ 3R คือ Reuse Reduce และ Recycle นั้น เป็นทิศทางที่ทำกันมาแล้วทั่วโลก โดยยุโรปมีนำมาใช้แล้วสามารถลดการใช้น้ำได้ 10 50 % จึงเชื่อว่าระบบ 3R จะเป็นทางออกให้กับภาคบริการเช่นกัน

แก้น้ำแล้งพื้นที่ EEC ด้วยหลัก 3R + IoT เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็น "น้ำดี"


"ในฐานะนักวิจัยเรามองว่า เรื่องของ 3R ไม่ได้แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เป็นองค์รวม คือ Circular Economy การศึกษาจึงไม่เพียงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องศึกษาในด้านของเศรษฐศาสตร์ และแรงจูงใจทางด้านกฎหมายด้วย"โดยโครงการนี้ในระยะที่ 1 จะทำการศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน ศึกษาการจัดการองค์ความรู้ 3R โดยที่ผ่านมาผู้วิจัยได้เข้าสำรวจเก็บข้อมูลโรงงานสถานประกอบการ พร้อมถอดบทเรียนในพื้นที่ที่ทำจริง ออกแบบและประเมินมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์และที่ไม่ใช่เชิงเศรษฐศาสตร์ผศ.ดร.ธนพล กล่าวเพิ่มเติมว่า "การบริหารจัดการน้ำด้วยหลัก 3R คือ เมื่อเราใช้น้ำแล้ว แทนที่เราจะบำบัดแล้วปล่อยออก เราจะเพิ่มการบำบัดอีกขั้นหนึ่งให้สามารถนำกลับมาใช้ได้ เบื้องต้นเราตั้งเป้าการนำกลับมาใช้ใหม่แบบ non portable คือ ไม่สัมผัสร่างกาย ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งกับ Black water คือน้ำเสียจากสุขภัณฑ์/ส้วม และ Gray Water น้ำเสียจากกระบวนการอื่นๆ"

แก้น้ำแล้งพื้นที่ EEC ด้วยหลัก 3R + IoT เปลี่ยน "น้ำเสีย" เป็น "น้ำดี"

โดยผลผลิตในระยะที่ 1 (ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี) คือแบบทางวิศวกรรมของระบบ 3R ที่มี IoT เข้าช่วยสำหรับภาคบริการ 6 ประเภทคือ กลุ่มธุรกิจการค้า, กลุ่มสถานบริการและที่พัก, กลุ่มสถานศึกษา, กลุ่มโรงพยาบาล, กลุ่มสถานีบริการเชื้อเพลิง, และ กลุ่มตลาด ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและสหกรณ์ นอกจากนี้ผลผลิตสำคัญคือการวิเคราะห์ว่าภาคส่วนใดของภาคบริการที่มีโอกาสในการทำ 3R เพื่อลดการใช้น้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้มากที่สุด พร้อมทั้งการประเมินทางเศรษฐศาสตร์เพื่อพัฒนามาตรการทางนโยบาย และ กฎหมายในการสนับสนุนให้เกิดการนำระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการที่ศึกษาในโครงการนี้มาใช้งานจริงนอกจากนี้ในปี 2563 และ 2564 จะมีการทำต้นแบบการใช้ระบบบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะสำหรับภาคบริการที่ศึกษาในโครงการระยะที่ 1 กับสถานประกอบการจริง และเก็บผลสัมฤทธิ์จริงเพื่อเป็นต้นแบบสู่การขยายผลในระดับประเทศต่อไป

logoline