svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พาณิชย์วาง 7 มาตรการรองรับสหรัฐตัดสิทธิจีเอสพีสินค้าไทย

28 ตุลาคม 2562
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ วาง 7 มาตรการรองรับผลกระทบการตัดสิทธิจีเอสพีของสหรัฐฯ เตรียมหาตลาดใหม่ทดแทน อาทิ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น บาห์เรน กาตาร์ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร รัสเซีย CLMV และ อินโดนีเซีย พร้อมเร่งขยายการส่งออกให้สูงขึ้นก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาประกาศตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรทางการค้า (GSP)  ที่เคยให้ไทยบางรายการ ว่ามาตรการดังกล่าวจะยังคงไม่กระทบต่อเป้าส่งออกสินค้าไทยที่ส่งไปสหรัฐฯในปี2562  ที่วางไว้ขยายตัว 4%เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่มีคำสั่งซื้อไว้ล่วงหน้าและทยอยส่งมอบไปแล้ว ซึ่งยอดส่งออก9 เดือนแรกคิดเป็น 73-75%ของทั้งปี อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงนี้ผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้า ก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้


อย่างไรก็ตามกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมมาตรการรองรับและเพิ่มกิจกรรมหาตลาดทดแทนพร้อมทั้งได้หารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดตลาดและกิจกรรมด้วยแล้ว โดยในเบื้องต้นมี 7มาตรการรองรับ  ดังนี้ 1.เร่งขยายการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯช่วงปลายปีนี้จนถึงก่อนมาตรการมีผลบังคับใช้โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะได้มีกิจกรรมผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวมากขึ้นทั้งนี้คาดการณ์ว่าผู้นำเข้าจะเร่งนำเข้าสินค้าที่จะได้รับผลกระทบการมาเตรียมไว้ก่อน ดังนั้นในช่วงนี้อาจมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติได้โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยางเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีฐานการผลิตในไทยในขณะเดียวกันได้มีการคืนสิทธิ/ผ่อนผันตามเกณฑ์จีเอสพีรายสินค้าแก่ไทยจำนวน 7รายการ ได้แก่ ปลาแช่แข็ง ดอกกล้วยไม้สด เห็ดทรัฟเฟิล ผงโกโก้ หนังของสัตว์เลื้อยคลาน เลนส์แว่นตา และส่วนประกอบของเครื่องแรงดันไฟฟ้าซึ่งกรมจะเร่งขยายส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้แก่สินค้าเหล่านี้ไปพร้อมกัน


2.เร่งกระจายความเสี่ยงโดยหาตลาดส่งออกให้หลากหลายและแสวงหาตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่โดนผลกระทบ"กรมได้สั่งการให้ทูตพาณิชย์เร่งหาตลาดให้แก่สินค้าที่ได้รับผลกระทบและสำรวจความต้องการของตลาดทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนขายสินค้าของประเทศไทยตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยในช่วงนี้ถึงกลางปี 2563กรมมีแผนงานเร่งด่วนเพิ่มเติมเพื่อบุกตลาดและกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินค้าไทยในประเทศเป้าหมายทั่วโลกอาทิ อินเดีย บาห์เรนและกาตาร์ แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น จีน สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรปตุรกี รัสเซีย CLMV ศรีลังกา บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย เป็นต้น"นายสมเด็จกล่าว


3.ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร และอาหารแปรรูปโดยใช้โอกาสจากภาวะเงินบาทแข็งค่าไปลงทุนในสหรัฐฯ ในรูปของสำนักงานขายหรือการแสวงหาเทคโนโลยีทันสมัย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันหรือในประเทศที่สหรัฐฯ มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย อาทิ แคนาดา ชิลี และเม็กซิโกเพื่อใช้สิทธิในการส่งสินค้าเข้าสหรัฐฯ

 


4.กระชับความสัมพันธ์กับผู้นำเข้าพันธมิตรและเพิ่มความร่วมมือกับผู้นำเข้าขนาดกลาง และ SMEs ในประเทศต่างๆ  อย่างต่อเนื่องผ่านกิจกรรมต่างๆ รวมทั้ง 5.สร้างความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ เช่นการจัดกิจกรรมส่งเสริมในห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารไทยและกิจกรรมส่งเสริมสินค้าไทยในหลายตลาด 6.เน้นการให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวโน้ม (Trend) ของตลาด  อีกทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้าและทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า เพื่อสร้างจุดเด่นและความได้เปรียบของสินค้าไทย


7.ผลักดันการค้าผ่าน thaitrade.comซึ่งเป็นช่องทางการค้าออนไลน์ที่สามารถส่งออกสินค้าไทยคู่ขนานไปกับการค้ารูปแบบเดิมพร้อมกันนี้กรมได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ โดยจะเปิด TopThaiFlagship Store ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้าของไทยในแพลตฟอร์มต่างประเทศและในเดือนพฤศจิกายนนี้จะเปิดตัวร่วมกับ TMall Global ในจีนและจะขยายสู่ประเทศสำคัญอื่นๆ ต่อไป

logoline